อยากลดภาระผ่อนบ้าน 50% CIMBT ชวนรีไฟแนนซ์ จัดดอกเบี้ยต่ำ 2.39%

บ้าน
แฟ้มภาพ

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หนุนคนไทยรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน ปลดภาระดอกเบี้ยลงกว่า 50% ชูโปรแกรมดอกเบี้ยจูงใจ 3 ปีแรก 2.39% หลังดอกเบี้ยเฉลี่ยในตลาดต่ำอยู่ที่ 4.5-5.5% พร้อมตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อบ้าน 1.4 หมื่นล้านบาท คาดยอดคงค้างสิ้นปีนี้แตะ 9 หมื่นล้านบาท กดเอ็นพีแอลไม่เกิน 4% และปี’65 คาดโต 20% พอร์ตอยู่ที่ 9.5 หมื่นล้านบาท มั่นใจมาตรการ LTV ดันตลาดขยายตัว

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดสินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยปัจจุบันมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างดีและมีการแข่งขันกันสูง เนื่องจากลูกค้ามีความเข้าใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 4-5 ปีก่อน ขณะเดียวกันพบว่ามีลูกค้าสินเชื่อบ้านในระบบจำนวนมากที่ผ่อนชำระค่างวดมากกว่า 3 ปีที่สามารถทำโปรแกรมรีไฟแนนซ์บ้านได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยรายเดือนกว่า 50% โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยปีที่ 4 เป็นต้นไปเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5%-5.5% ต่อปี เมื่อเทียบกับดอกเบี้ย 3 ปีแรกโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2.4%-2.8% ต่อปี

เอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร
เอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร

สำหรับโปรแกรมสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก 2.39% ฟรีค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ ฟรีค่าอากรแสตมป์ ฟรีค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย 3 ปีแรก ลูกค้าสนใจสามารถสมัครออนไลน์ได้ ดอกเบี้ยจูงใจที่สุดในตลาดตอนนี้ ช่วยลูกค้าปลดหนี้ และเป็นเจ้าของบ้านเร็วขึ้น ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยบ้านในตลาดอาจจะไม่เห็นต่ำกว่าระดับนี้แล้ว แต่จะหันไปเล่นโปรโมชั่นอื่น ๆ แทน เช่น การยกเว้นค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียม เป็นต้น

“ในช่วงโควิดที่เศรษฐกิจยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่ ธนาคารจึงอยากกระตุ้นลูกค้าสินเชื่อบ้านให้ลุกขึ้นมาบริหารหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระทางการเงิน ด้วยการรีไฟแนนซ์บ้าน เนื่องจากหากดูภาระการจ่ายค่างวดในช่วงปีที่ 1-3 จะเห็นค่างวดไปตัดเงินต้นค่อนข้างมาก แต่หลังปีที่ 4 เงินค่างวดจะถูกไปตัดดอกเบี้ยถึง 70% หากลูกค้าหันมารีไฟแนนซ์จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้ถึง 50% และจำนวนระยะเวลาการผ่อนชำระจะลดลงจาก 30 ปีด้วย”

นายเอกสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมาจากสินเชื่อรีไฟแนนซ์ประมาณ 6,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% พอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมด ทั้งนี้ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ยอดสินเชื่อคงค้างจะจบอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท และในปี 2565 ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่เติบโต 20% และยอดคงค้างเติบโต 6% หรืออยู่ที่ 9.5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 หลายสถาบันการเงินและธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากลูกค้ามีรายได้ลดลง จึงเพิ่มความระมัดระวังในกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง แต่ในปัจจุบันธนาคารได้ผ่อนเกณฑ์การอนุมัติกลับมาเป็นปกติแล้ว ส่งผลให้อัตราการอนุมัติ (Approval Rate) ของสินเชื่อรีไฟแนนซ์กลับมาอยู่ที่ 80% จากก่อนหน้าที่มีการระบาดของโควิด-19 อัตราการอนุมัติปรับลดลงไปอยู่ที่ 65-70% จากภาพรวมการอนุมัติสินเชื่อทั้งระบบธนาคารอยู่ที่ 50-60%

ขณะที่สัญญาณการชำระหนี้ของลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการการช่วยเหลือลูกค้าของ ธปท. ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่ได้เร่งตัวขึ้น โดยของธนาคารเอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านปัจจุบันอยู่ที่ 3.6% ปรับลดลงจากก่อนหน้าอยู่ที่กว่า 5% สะท้อนคุณภาพลูกค้าที่ดีขึ้น โดยในปี 2565 ธนาคารคาดว่าเอ็นพีแอลจะไม่เกิน 4% อย่างไรก็ตาม ยังคงมีกลุ่มเปราะบางที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

“จากมาตรการหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะช่วยหนุนการเติบโตสินเชื่อเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และหนุนภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องถึงปี 2565 ของทั้งระบบให้ขยายตัวได้ดีขึ้น”