เล็งขึ้นภาษีรถไฮบริด ดัน “อีวี” โตโยต้าวอนขุนคลังหนุนทิศทางบริษัท

คลังเล็งขึ้นภาษีรถยนต์ไฮบริด เพิ่มแรงจูงใจผู้ประกอบการหันผลิตรถอีวี เหตุปัจจุบันอัตราภาษีใกล้เคียงกัน ทำให้นักลงทุนยังชะลอการผลิตรถอีวีชี้แนวโน้มต้องปรับใหม่หลังปี 2568 “สันติ” ชี้ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่อีวี ยังต้องส่งเสริมรถยนต์ไฮบริดควบคู่ไปก่อนฟากผู้บริหาร “โตโยต้า” ฝากขุนคลังปรับโครงสร้างภาษีสอดคล้องกับทิศทางของบริษัท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจะจูงใจให้ค่ายรถยนต์หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศเพิ่มมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ทางกรมสรรพสามิตอาจจะต้องปรับเพิ่มอัตราภาษีรถยนต์ไฮบริดให้สูงขึ้น หลังจากหมดมาตรการลดภาษีที่จัดเก็บภาษีรถยนต์ไฮบริดที่ 4% ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จนถึงปี 2568 ไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาตั้งแต่ปี 2560 ที่มีการลดอัตราภาษีลงจากเดิมอยู่ที่ 8%

“ปัจจุบันรถยนต์ไฮบริดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 3,000 ซีซี ถ้าได้ส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะเสียภาษีเพียง 4% ขณะที่รถอีวี ภาษีอยู่ที่ 2% ต่างกันแค่ 2% เท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการไม่มีแรงจูงใจในการผลิตรถอีวี และปัจจุบันภาษีรถอีวีเก็บอัตราต่ำอยู่แล้ว คงจะไปลดส่วนนี้ลงไม่ได้ ดังนั้น คงต้องไปเพิ่มภาษีจากรถยนต์ประเภทอื่น อย่างภาษีไฮบริดที่ปัจจุบันเก็บอัตราต่ำ” แหล่งข่าวกล่าว

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2564 ได้หารือกันถึงมาตรการที่จะเข้าไปสนับสนุนเรื่องภาษีรถยนต์อีวี แต่จะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรไปหารือร่วมกันก่อน แล้วเสนอบอร์ดอีวีอนุมัติต่อไป เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทรถยนต์ทั่วไป เปลี่ยนจากผลิตรถยนต์ไฮบริดมาผลิตรถอีวีแทน รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยด้วย

อย่างไรก็ดี ในระยะเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ทั่วไปไปสู่รถยนต์อีวีนั้น คงต้องใช้รถยนต์ไฮบริดควบคู่กันไป เนื่องจากหากเร่งให้มีการผลิตรถอีวีเร็วเกินไปอาจจะประสบกับปัญหาความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น สถานีชาร์จและอื่น ๆ ดังนั้น จึงต้องพัฒนาให้ทันกับรถ

“รถอีวีเป็นสิ่งที่ดี ช่วยลดโลกร้อน โดยองค์ประกอบต่าง ๆ ก็ต้องคำนึงด้วย ฉะนั้น การจะสนับสนุนให้มีโรงงานเข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศไทย ต้องมีมาตรการจูงใจทางด้านภาษี ทั้งกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ซึ่งก็พยายามหาข้อมูลที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใจความสำคัญ คือ จะสนับสนุนอย่างไรให้ผู้ประกอบการเข้ามาผลิตในบ้านเรา แน่นอนว่าการเริ่มต้นจะต้องมีการนำเข้าบ้าง ขณะเดียวกันก็จะมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในบ้านเรา รวมถึงสถานีชาร์จขนาดใหญ่ระหว่างทางด้วย” นายสันติกล่าว

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้ประชุมเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ให้สอดคล้องกับปัจจัยต่าง ๆ ที่กรมได้ระบุไว้

โดยทางภาคเอกชนเห็นด้วยกับนโยบายของกรม รวมถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้มีการหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ซึ่งทางโตโยต้าขอให้กรมพิจารณาทิศทางโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของบริษัท

“ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี)ในวันที่ 8 พ.ย. เพื่อเสนอมาตรการภาษีรถอีวีนั้น ขณะนี้ถูกเลื่อนออกไปก่อน อย่างไรก็ดี การประกาศนโยบายใช้รถอีวี จะได้เห็นภายในสิ้นปีนี้แน่นอน” นายณัฐกรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา รมว.คลัง พร้อมด้วยผู้บริหารกรมสรรพสามิต และ ผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประชุมหารือข้อราชการผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับทางผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ขณะนี้กรมได้รับทราบนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าตามมติ ครม. ว่าให้กรมศุลกากรศึกษาในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมพร้อมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ ส่วนจะมีการลดภาษีนำเข้ารถอีวีอย่างไรนั้น จะต้องให้บอร์ดอีวีมีข้อสรุปอีกครั้ง

“ปัจจุบันภาษีนำเข้ารถยนต์อีวีไม่ได้มากอยู่แล้ว หากมีการลดอากรขาเข้า ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร” นายพชรกล่าว