ธุรกิจประกันภัยเฮ! คปภ.เปิดทางผนึกแบงก์ ปล่อยกู้ “เมกะโปรเจ็กต์”

ธุรกิจประกันภัยเฮ ! คปภ.จ่อประกาศเกณฑ์ลงทุนใหม่ หนุนประกันผนึกแบงก์ใหญ่ปล่อยกู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขีดเส้นลงทุนได้ไม่เกิน 10% มูลค่าแต่ละโครงการ รวมเงินให้กู้ยืมอื่นไม่เกิน 20% ของสินทรัพย์ลงทุน คาดมีผลบังคับใช้ไม่เกิน 2-3 สัปดาห์นี้ “เมืองไทยประกันชีวิต-ทิพยฯ” ขานรับชี้ช่วยเพิ่มทางเลือกลงทุน

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อีกไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ ร่างประกาศหลักการลงทุนให้กู้ยืมสำหรับกิจการโครงสร้างพื้นฐาน โดยปล่อยการกู้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ (sydicated loan) สำหรับบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย น่าจะออกมาบังคับใช้ได้ โดยขณะนี้ได้ผ่านกระบวนการความเห็นชอบจากคณะกรรมการ คปภ.ไปแล้ว อยู่ระหว่างกระบวนการเสนอปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน คปภ. ลงนามออกประกาศ

ทั้งนี้ ร่างประกาศดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้บริษัทประกันสามารถปล่อยกู้ให้แก่โครงการ 3 ประเภท คือ 1.โครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ 2.โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะของประเทศไทยและ 3.โครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียนที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศไทย อาทิ

ระบบขนส่งทางรางหรือทางท่อ, ประปา, ไฟฟ้า, ถนน/ทางพิเศษ/ทางสัมปทาน, ท่าอากาศยานหรือสนามบิน, ท่าเรือน้ำลึก,โทรคมนาคมหรือโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, พลังงานทางเลือก, ระบบบริหารจัดการน้ำ/ระบบชลประทาน, ระบบจัดการของเสีย และระบบป้องกันภัยธรรมชาติ

ซึ่งมูลค่าการลงทุนต้องไม่เกิน 10% ของมูลค่าทั้งหมดของแต่ละโครงการ และบริษัทประกันต้องไม่เป็น lead arranger โดยเมื่อรวมกับการลงทุนโดยการกู้ยืมอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 20% ของสินทรัพย์ลงทุนของบริษัทนั้น ๆ

ทั้งนี้ คุณสมบัติของบริษัทประกันปล่อยกู้ sydicated loan ได้นั้น จะต้องมีเงินกองทุนส่วนเกิน (TCA-TCR) ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท สำหรับบริษัทประกันชีวิต และไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย

รวมถึงต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ย้อนหลัง 4 ไตรมาสล่าสุด ไม่น้อยกว่า 200% มีอัตราส่วนสินทรัพย์ลงทุนต่อเงินสำรองประกันภัยไม่ต่ำกว่า 110% กรณีบริษัทประกันชีวิต และมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่า 110% กรณีบริษัทประกันวินาศภัย

“เรากำหนดสัดส่วนการให้กู้ยืม โดยให้พิจารณาตามความเสี่ยงของหลักประกัน และความเสี่ยงของโครงการลงทุน โดยแสดงข้อมูลเชิงตัวเลข, ตัวอย่างโครงสร้างพื้นฐานที่เทียบเคียงได้ แผนแสดงการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

รวมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ทั้งนี้ การปล่อยกู้ต้องร่วมกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ตามการจัดกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้ขอสินเชื่อ/ผู้ค้ำประกัน ต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่าระดับลงทุน (investment grade)”

นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ถือเป็นการขยายขอบเขตการลงทุนของธุรกิจประกันให้มีทางเลือกในการเพิ่มผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนที่ดีขึ้น

เพราะส่วนมากเงินที่ได้รับจากเบี้ยประกันของประชาชนจะลงทุนสินทรัพย์เพื่อการลงทุน (invested asset) เช่น ตราสารหนี้, หุ้นกู้, หุ้น, รีท เป็นต้น ขณะที่พอร์ตให้กู้ยืมส่วนใหญ่ยังเป็นเงินกู้ยืมตามกรมธรรม์ประกัน (premium loan) ส่วนพอร์ตสินเชื่อยังน้อยมาก

“ปัจจุบันสินทรัพย์รวมของเมืองไทยประกันชีวิต มีกว่า 5 แสนล้านบาท สัดส่วนกว่า 90% เป็นสินทรัพย์ลงทุน อยู่ในบอนด์มากกว่า 80% ส่วนที่เหลือ 20% กระจายอยู่ในหุ้นกู้, หุ้น, รีท และเงินให้กู้ยืม ซึ่งขณะนี้กำลังให้ฝ่ายลงทุนศึกษากิจการโครงสร้างพื้นฐาน โดยมองที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก อาทิ ผลตอบแทนเพื่อจะแมตชิ่งการลงทุนที่เป็นไปได้ ขณะเดียวกันต้องบาลานซ์บริหารความเสี่ยงที่บริษัทจะรับได้ด้วย”

นายสมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทิพยกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย กล่าวว่า เกณฑ์ลงทุนใหม่เป็นเรื่องดีที่เปิดโอกาสให้บริษัทประกันมีช่องทางลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ค่อนข้างจำกัด รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันยังสร้างผลตอบแทนได้ยาก

ด้านกำไรจากการรับประกันภัยก็บางลงไปมาก โดยการลงทุนกิจการโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นการลงทุนสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับไทยด้วย ซึ่งการลงทุนประเภทนี้ค่าตอบแทนจะสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่น ๆ โดยทั่วไป หรือสูงกว่าระดับ 2-3% และยังเป็นการลงทุนในระยะไม่ยาวจนเกินไป

“ปัจจุบันพอร์ตลงทุนของกลุ่มทิพยฯยังไม่มีการปล่อยกู้ยืม เนื่องด้วยยังไม่มีความเชี่ยวชาญ แต่เจตนารมณ์กลุ่มทิพยฯหลังจากนี้ เราจะลงทุนหลักผ่านโฮลดิ้งส์ ซึ่งแต่ละบริษัทจะจ่ายปันผลไปให้บริษัทแม่ เพื่อลงทุนโดยตรง

ทั้งนี้ แต่ละปีทิพยประกันภัยจ่ายปันผลราว 1,500 ล้านบาท คิดเป็น 50-60% ของกำไรสุทธิ ขณะที่ทิพยประกันชีวิตจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิ แต่เม็ดเงินไม่มาก โดยปี 2563 พอร์ตลงทุนของทิพยประกันภัยอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่พอร์ตลงทุนทิพยประกันชีวิตอยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท”

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูล คปภ.งวด 6 เดือนแรกปีนี้ว่า ธุรกิจประกันชีวิต มีสินทรัพย์ลงทุน 3.88 ล้านล้านบาท คิดเป็น 92.88% ของสินทรัพย์รวม มีรายได้ลงทุนสุทธิ 60,970 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัย มีสินทรัพย์ลงทุน 3.44 แสนล้านบาท คิดเป็น 69.37% ของสินทรัพย์รวม มีรายได้ลงทุนสุทธิ 3,736 ล้านบาท