ค่าเงินบาททรงตัว ก่อนการประชุม ECB

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (19/7) ที่ระดับ 33.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือนมิถุนายน หลังจากปรับตัวลดลงเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน ทั้งนี้ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านปรับตัวเพิ่้มขึ้น 8.3% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายเดือนสู่ระดับ 1.22 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จากระดับ 1.12 ล้านยูนิตในเดือนพฤษภาคม โดยเมื่อเทียบรายปี ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือนมิถุนายน

ในส่วนความเคลื่อนไหวของประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% โดยเห็นพ้องความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ แม้จะปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้เพิ่มเป็น 3.5% ตามการส่งออกฟื้นตัวดี แต่อัตราเงินเฟ้อยังต่ำกว่ากรอบ และคุณภาพสินเชื่อด้อยลง อีกทั้งกังวลว่าสถานการณ์แรงงานต่างด้าวอาจจะกระทบธุรกิจและความสามารถการชำระหนี้ของ SMEs สั่งเกาะติดแนวโน้ม NPL นอกจากนี้ กนง.มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางการขยายตัวต่อเนื่อง โดยความไม่แน่นอนของประมาณการเศรษฐกิจปรับลดลง แต่ความเสี่ยงยังโน้มไปด้านต่ำใกล้เคียงเดิม จากปัจจัยต่างประเทศโดยเฉพาะความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐ การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ โลกที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้า ประกอบกับปัจจัยในประเทศที่กำลังซื้อยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.61-33.69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (20/7) เป็นตลาดที่ระดับ 1.1524/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (19/7) ที่ระดับ 1.1532/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยวันนี้ (20/7) สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในกลุ่มยูโรโซนในไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัวน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2558 ทั้งนี้ ราคาบ้านในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2560 ปรับตัวขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2559 และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 4% จากการที่ราคาบ้านที่ขยายตัวช้าลงในไตรมาสแรกปีนี้ อาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังไม่ตัดสินใจยุติโครงการซื้อพันธบัตร นอกจากนี้นายฟรองซัวส์ วิลเลอร์รอย เดอ กาลอ สมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดในยูโรโซนได้สิ้นสุดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม นายเดอ กาลอ กล่าวว่า ยูโรโซนยังคงจำเป็นต้องมีการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป แต่ ECB จะปรับระดับความเข้มข้นในการใช้นโยบายโดยขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ทางด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ECB จะคงนโยบายการเงินในการประชุม รวมทั้งคาดว่า ECB จะทำการประกาศในเดือนกันยายนเกี่ยวกับแผนการลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1496-1.1527 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1503/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (20/7) เปิดตลาดที่ระดับ 111.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (19/7) ที่ระดับ 111.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ (20/7) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุม พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2560 โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% ขณะเดียวกันคณะกรรมการ BOJ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2560 ขึ้นสู่ระดับ 1.8% จากระดับ 1.6% พร้อมกับปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2560 ลงเหลือ 1.1% จากระดับ 1.4% รวมทั้งประกาศเลื่อนเวลาในการบรรจุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ออกไปเป็นช่วงปีงบประมาณ 2562 โดยก่อนหน้านี้ BOJ คาดการณ์ว่า จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อในช่วงประมาณปีงบประมาณ 2561 นอกจากนี้ BOJ ยังคาดการณ์ด้วยว่า เงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้น 1.5% ในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 1.7% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 111.77-112.39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 112.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (20/7) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหภาพยุโรปประจำเดือนกรกฎาคม (20/7) ดัชนีภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ประจำเดือนพฤษภาคม (21/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.15/0.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.70/0.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้