เงินบาทอ่อนค่า จับตาสัปดาห์หน้า ประชุมกนง. ผลประกอบการ Q3 บจ.

เงินบาทและหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบผันผวนตลอดสัปดาห์ จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ประชุมกนง. (10 พ.ย.) สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/64 ของบจ.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแกว่งตัวผันผวนตามจังหวะการลงทุนในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในช่วงก่อนการประชุมเฟด แต่กลับมาเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ สอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ กลับมาได้รับแรงหนุนจากตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง (เช่น ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน) แม้จะเผชิญแรงขายช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ หลังเฟดปรับลด QE ตามที่ตลาดคาด และส่งสัญญาณอดทนต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ในวันศุกร์ (5 พ.ย.) เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 33.31 เทียบกับระดับ 33.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 ต.ค.)

เงินบาท-7พ.ย.

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.80-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของกนง. ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนต.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนต.ค. ประกอบด้วย ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,626.22 จุด เพิ่มขึ้น 0.17% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 76,911.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.40% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.05% มาปิดที่ 547.20 จุด

หุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาลงช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ ทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาค โดยเผชิญแรงขายของนักลงทุนในหุ้นหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานระหว่างรอผลการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมา หลังทราบผลการประชุมเฟด ซึ่งมีมติทยอยลดวงเงิน QE ตามตลาดคาดและส่งสัญญาณไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย ก่อนจะย่อลงเล็กน้อยปลายสัปดาห์

อนึ่งหุ้นกลุ่มธนาคารปรับขึ้นโดดเด่นในสัปดาห์นี้ รับรายงานข่าวการรุกธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและบริการทางการเงินในต่างประเทศ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,605 และ 1,595 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,635 และ 1,650 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (10 พ.ย.) การปรับน้ำหนักดัชนี MSCI (11 พ.ย.) สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/64 ของบจ.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคเดือนต.ค. ตลอดจนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค. ของจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย.ของยูโรโซน