แบงก์ห่วงค่าครองชีพพุ่ง ฉุดเศรษฐกิจฟื้นช้า แนะรัฐกระตุ้นการบริโภค

ค่าครองชีพ

แม้การเปิดประเทศจะทำให้มีสัญญาณเชิงบวกต่อการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจดีขึ้น ทว่าแนวโน้มเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความกังวลของครัวเรือนต่อภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น จะเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ

โดย “วิจัยกรุงศรี” ธนาคารกรุงศรีอยุธยา รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคม สูงสุดในรอบ 5 เดือน โดยอยู่ที่ 2.38% ต่อปี จากเดือนกันยายนอยู่ที่ 1.68% สาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศตามสถานการณ์ราคาพลังงานโลก และการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดในกลุ่มพืชผัก ที่ผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง

ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดยาสูบเพิ่มสูงขึ้นจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) ในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 0.21% จาก 0.19% ในเดือนกันยายน

สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.99% และ 0.23% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ด้วยอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวช้า “วิจัยกรุงศรี” จึงคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี ต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางและไม่สม่ำเสมอ แม้อาจเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อ จากปัจจัยด้านอุปทานอยู่บ้างในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าก็ตาม

ทั้งนี้ ด้วยการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวโดยรวมที่อาจยังมีข้อจำกัด ทาง “วิจัยกรุงศรี” เห็นว่า มาตรการภาครัฐที่เพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค และกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ จะเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้

ขณะที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้เปิดเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน (KR-ECI) ล่าสุดชี้ว่า ในเดือนตุลาคม 2564 ครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพ เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ทำให้ราคาพืชผักสูงขึ้น

โดยดัชนี KR-ECI ในเดือนตุลาคม 2564 และอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับลดลงอยู่ที่ 34.9 และ 36.7 จากในเดือนกันยายน 2564 ที่อยู่ที่ 36.6 และ 38.4 แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเริ่มทรงตัว สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังอัตราการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการทยอยผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าต่าง ๆ ที่ปรับสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับมือและการจัดการของครัวเรือนต่อราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น พบว่าครัวเรือน 41.0% จะลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น การไปท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ ขณะที่อีก 39.4% ระบุว่า จะใช้สินค้าอุปโภคบริโภคในปริมาณที่น้อยลงต่อครั้ง เพื่อให้ใช้ได้นานขึ้น ซึ่งวิธีการรับมือต่าง ๆ ของภาคครัวเรือนจะเห็นว่าเป็นการลดทอนแรงหนุนจากการบริโภคครัวเรือนที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

โดยในระยะข้างหน้า การเริ่มเปิดประเทศ (1 พฤศจิกายน 64) และการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการระบาดต่าง ๆ จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมต่อการปรับขึ้นของราคาพืชผักอาจมีแนวโน้มผ่อนคลายลงได้บ้าง

หลังระดับน้ำท่วมเริ่มลดลงและเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว แต่สถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่อยู่ในระดับสูง อาจต้องใช้เวลาในการปรับสมดุลระหว่างความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และปริมาณการผลิต จึงอาจยังเห็นราคาพลังงานที่สูงกดดันต้นทุนค่าขนส่งและอาจส่งผลกระทบมายังต้นทุนสินค้าและบริการอื่น ๆ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน จึงยังมีแนวโน้มเปราะบางจากสถานการณ์พลังงานที่อยู่ในระดับสูง


ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงชี้ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในส่วนของการบริโภคยังมีความจำเป็นต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดำเนินการเปิดประเทศด้วยมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่ชัดเจน