ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัวจับตาเงินเฟ้อประกาศคืนนี้

ดอลลาร์
ภาพ Pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 10 พฤศจิกายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.76/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/11) ที่ระดับ 32.77/78 บาท/ดอลลาร์ โดยเมื่อคืนนี้ (9/11) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือน ก.ย. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือน ต.ค.

ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์หลังจากดีดตัวขึ้น 8.6% เช่นกันในเดือน ก.ย. ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 6.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2553 ทั้งนี้นักลงทุนในวันนี้จับตาตัวเลขเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งอาจจะมีผลต่อทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะสั้น

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่ามากสุดในรอบสามสัปดาห์นับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ประกอบกับมีกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นเป็นจำนวนมาก และในวันนี้ (10/11) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี

พร้อมประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 3 ปี 2564 และเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและการเปิดประเทศ รวมทั้งการเร่งกระจายวัคซีนส่งผลให้ความเสี่ยงด้านต่ำลดลง แต่แนวโน้มการฟื้นตัวยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนพร้อมทั้งยังมองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 0.7% และ 3.7% ในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ ซึ่งขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.72-32.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (10/11) ที่ระดับ 1.1584/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/11) ที่ระดับ 1.1571/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการอ่อนค่าขอเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ นายลูอิส เด กินโดส รองประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนเจาะปรับตัวลดลงในปีหน้า เนื่องจากปัจจัยที่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อในขณะนี้เป็นเพียงแค่ภาวะชั่วคราว โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1565-1.1595 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1565/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/11) ที่ระดับ 112.82/84 เยน/ดอลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/11) ที่ระดับ 112.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในขณะที่ทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายพิเศษ

เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย จากภาคการบริโภคที่อ่อนแอ นอกจากนี้นักลงทุนคาดว่าแผนการของรัฐบาลญี่ปุ่นในการแจกเงินสดเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 นั้นจะส่งผลบวกต่อตลาดไม่มาก ทำให้ในวันนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.80-113.15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.12/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. ของสหรัฐ (10/11), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (10/11), ตัวเลขอัตราการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือน ก.ย. และยังเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน พ.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ของสหรัฐ (12/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.80/-1.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.7/-1.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ