“ออมสิน”จัดซอฟท์โลน 2.5 หมื่นล้าน ปล่อยกู้ผ่าน 12 สถาบันการเงิน ช่วยเหลือผู้ประกอบการ 3 จว.ชายแดนใต้

ธนาคารออมสิน เดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 25,000 ล้านบาท ให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวม 12 แห่ง ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการ คิดดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี

นายพิเชฐ ธรรมวิภาค รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ให้ได้รับการบรรเทาภาระดอกเบี้ยที่กู้ยืมเงินมาเพื่อดำเนินธุรกิจ และช่วยสร้างขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้โครงการมีความต่อเนื่องและผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนในการฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินการต่อไปได้ ตลอดจนเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการและยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ธนาคารออมสินจึงให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ด้วยการให้กู้ยืมเงินผ่านสถาบันการเงินธนาคารเฉพาะกิจ และธนาคารพาณิชย์ ที่เข้าร่วมโครงการรวม 12 แห่ง ภายใต้ “โครงการการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) จากเดิมที่จะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 ธันวาคม 2560 ขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 วงเงินโครงการรวม 25,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการนี้ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยสถาบันการเงินจะปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี ในประเภทวงเงินหมุนเวียนแบบมีกำหนดระยะเวลา และสินเชื่อระยะยาว (L/T) เพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุนขยายกิจการ เช่น ขยายโรงงาน ซื้อเครื่องจักร เป็นต้น

สำหรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขของผู้ที่สามารถใช้บริการสินเชื่อตามโครงการนี้ได้นั้น จะต้องเป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ” นายพิเชฐ กล่าวในที่สุด.