อย่าปล่อยให้ตัวเองล้าหลัง กับเทคโนโลยีใหม่ !!

หมอนอิง
[email protected]

เมื่อก่อนเวลาพูดถึง สังคมไร้เงินสด ก็ยังไม่ค่อยเห็นภาพว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปสู่จุดนั้นได้จริง ๆ หรือ ?? เพราะผู้บริโภคก็ยังคงเคยชินกับการใช้จ่ายในรูปแบบเดิม ๆ และ “พฤติกรรม” เปลี่ยนกันได้ยาก มาวันนี้เอง ก็ต้องเริ่มเปลี่ยนความคิด ไม่ใช่เพราะว่าผู้เขียนเป็นคนรุ่นใหม่ ที่คุ้นชินกับเทคโนโลยี หากเทียบกับรุ่นพ่อแม่เรา แต่ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเข้ามามี “บทบาท” กับเราทุกขณะจริง ๆ

เมื่อก่อนอาจมองข้าม และอาจไม่เห็นความสำคัญกับสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้มากนัก และยอมทำตัวตกยุค เมื่อคนใกล้ตัวกล่าวถึง “พร้อมเพย์” เพราะการโอนเงินผ่านโมบายแบงกิ้งก็ตอบโจทย์อยู่แล้ว ยื้ออยู่นาน จน
คนรอบข้างหันไปใช้พร้อมเพย์กันหมดแล้ว แล้วก็พูดกรอกหูบ่อย ๆ ว่า ตั้งแต่มีพร้อมเพย์ โอนเงินสบายขึ้นเยอะ !!

จนกระทั่ง ต้องโอนเงินให้เพื่อนพร้อม ๆ กันหลายบัญชี ต้องกรอกเลขบัญชีกันวุ่นวาย ทำให้ต้องนึกย้อนกลับไปนึกถึง “พร้อมเพย์” ที่เพื่อน ๆ บอกว่า ลืมเลขที่บัญชีไปได้เลย แค่มีเบอร์โทรศัพท์ก็พอ ทำให้ต้องลองสมัครพร้อมเพย์

ยอมรับว่าเหมือนได้เปิดโลกทัศน์ไปอีก “โลก” ที่ทำให้ต้องนึกย้อนกลับมาถามตัวเองว่า เห้ยย ทำไมไม่ใช้ “เทคโนโลยี” ใหม่ ๆ เหล่านี้เร็วกว่านี้ เพราะความสะดวกสบายตามมาอีกมาก

ดูเหมือนว่า ทุกวันนี้พร้อมเพย์จะเข้าถึงคนได้วงกว้างมากขึ้น เดินไปร้านค้าในตลาด ก็ได้ยินพ่อค้าแม่ค้าพูดถึงพร้อมเพย์บ่อย ๆ และที่พัฒนาไปกว่านั้นวันนี้ พูดไปถึงการยิงหรือการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อชำระเงินกันแล้ว ได้แต่ตื่นเต้นในใจว่า สังคมเราพัฒนาไปถึงขนาดนี้แล้ว ทุกวันนี้พ่อค้าแม่ค้าข้างถนน ยันห้าง ยอมรับเทคโนโลยีทางการเงินเหล่านี้มากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการ และทำให้การชำระเงิน การโอนเงิน สะดวกสบายขึ้น

ไม่เพียงแค่นี้ เทคโนโลยีใหม่ทางการเงินที่อยากพูดถึงอีกอันคือ e-Wallet ที่เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ นวัตกรรมนี้ จะเข้ามาตอบโจทย์การใช้จ่ายโดยไม่ต้องใช้เงินสดได้อีกภาพ วันนี้เราค้นพบว่า e-Wallet มีประโยชน์มากมาย เพราะให้มากกว่าการจ่ายเงิน ก็คือ ให้เงินคืน มี cash back ทุกการชำระถึง 5-10% ของการใช้จ่าย ดังนั้นแล้วถ้า e-Wallet ให้เงินคืน เปรียบเสมือนการรูดบัตรเครดิตที่เวลารูดก็ให้เงินคืนเหมือนกัน แล้วเราจะใช้เงินสดไปทำไม ??

ทุกเทคโนโลยีทางการเงินเหล่านี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่ยังมีนวัตกรรมทางการเงินอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นจากการต่อยอดผ่านนวัตกรรมเหล่านี้ ท้ายที่สุดประโยชน์ก็จะตกที่ผู้ใช้ ดังนั้นคำถามคือ หากเทคโนโลยีทางการเงิน นวัตกรรมทางการเงินดีอย่างนี้แล้ว ทำไมบางคนถึงต่อต้าน ทำไมบางคนถึงเข้าไม่ถึง ไม่รับรู้ หรือลึก ๆ แล้วกลัวข้อมูลทางการเงินรั่วไหล หากไม่ได้กลัวสิ่งนี้ ก็ควรเปิดใจรับกับเทคโนโลยีใหม่ทางการเงินได้แล้ว เพราะแค่เปิดตาก็ทำให้เราเห็นอะไรใหม่ในอีกโลกที่ดีกว่าเดิม และทุ่นแรงเราไปได้เยอะ