หนี้เสีย “เอสเอ็มอี-รถยนต์” ขยับ ธปท.ระดมมาตรการมั่นใจแบงก์จัดการได้

ธปท.ชี้สัญญาณเอ็นพีแอลไตรมาส 3 ปรับเพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 3.09% เป็น 3.14% เผยสินเชื่อ “เอสเอ็มอี-รถยนต์” ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้น ยันช่วยยื้อเต็มที่ไม่ให้เกิด “หน้าผาหนี้” ทั้งออกมาตรการช่วยเหลือ-ผ่อนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ ช่วยพยุงการไหลของหนี้เสีย พร้อมเปิดตัวเลขผู้ขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการล่าสุดเดือนก.ย.อยู่ที่ 6.7 ล้านบัญชี เม็ดเงิน 3.8 ล้านล้านบาท

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2564 พบว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีทิศทางขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.14% จากไตรมาส 2 ที่อยู่ 3.09% คิดเป็นยอดเอ็นพีแอลคงค้างอยู่ที่ 5.46 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อจับตามเป็นพิเศษ (SM) มีทิศทางเพิ่มขึ้นเดียวกันมาอยู่ที่ 6.69% จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 6.34%

ทั้งนี้ หากดูไส้ในพบว่าเอ็นพีแอลสินเชื่อธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.17% มาอยู่ที่ 3.25% โดยเอ็นพีแอลของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังคงปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.18% ส่วนธุรกิจรายใหญ่เอ็นพีแอลปรับลดลงจาก 2.50% มาอยู่ที่ 2.41% ส่วนหนึ่งมาจากฐานสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภคเอ็นพีแอลปรับลดลงจาก 2.92% มาอยู่ที่ 2.89% แต่จะพบว่าเอ็นพีแอลสินเชื่อรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.61% มาอยู่ที่ 1.72%

โดยแนวโน้มเอ็นพีแอลในระยะข้างหน้า ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่อัตราการไหลของเอ็นพีแอลจะไม่เพิ่มขึ้นรุนแรงจนเกิดเป็นหน้าผาหนี้เสีย (NPL cliff) เนื่องจากอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และเกณฑ์การผ่อนปรันการจัดชั้นหนี้ที่จะมีผลต่อเนื่องไปถึงปี 2566 จะช่วยชะลอการไหลของเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับที่สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการได้

“เราพยายามมีมาตรการให้มากที่สุด ทั้งแก้ไขหนี้เดิม และแก้หนี้ระยะยาว ปรับโครงสร้างเชิงลึก แต่ต้องยอมรับว่าในวิกฤตที่เกิดขึ้นอาจจะรอดไม่ได้ทุกคน แต่พยายามช่วยให้ได้มากที่สุด และแนวโน้มเอ็นพีแอลคงทยอยเพิ่มขึ้น แต่ไม่เพิ่มแบบตูมจนเป็นหน้าผา แต่คงต้องจับตาดูอยู่เพื่อให้อยู่ในวิสัยที่จัดการได้ ส่วนมาตรการที่จะทำคงไม่เน้นเรื่องการพักชำระหนี้ แต่จะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ตรงจุด และความช่วยเหลือต้องแตกต่างตามสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมาตรการคลายล็อกดาวน์” นางสาวสุวรรณีกล่าว

สำหรับความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือของสถาบันการเงิน พบว่าลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ 12.52 ล้านบัญชี คิดเป็นเม็ดเงิน 7.2 ล้านล้านบาท และปรับทยอยลดลงตามสถานการณ์ที่ดีขึ้น และกลับมาเร่งตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่มีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า ล่าสุด ณ เดือนกันยายน 2564 มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลืออยู่ที่ 6.7 ล้านบัญชี เม็ดเงินอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านบาท โดยกระจายตัวอยู่ในทุกกลุ่ม แบ่งเป็นสินเชื่อรายย่อย 6.04 ล้านบัญชี ปรับลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2563 ที่อยู่ 11.31 ล้านบัญชี และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี 6.3 แสนบัญชี ปรับลดลงจาก 1.17 ล้านบัญชี และธุรกิจรายใหญ่ทรงตัวอยู่ที่ 3 หมื่นบัญชี