ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่า หลังเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ ธ.ค. 2533

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (8/11) ที่ระดับ 33.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (5/11) ที่ระดับ 33.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ หลังจากที่นักลงทุนปรับตัวรับการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานเดือน ต.ค. ที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 531,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 450,000 ตำแหน่ง จากระดับ 312,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย. ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.6% โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% จากระดับ 4.8% ในเดือน ก.ย.

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.4% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ในวันอังคาร (9/11ป กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งนับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 6.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2553

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าในคืนวันพุธ (10/11) หลังจากสหรัฐเปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 6.2% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2533 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9% และสูงกว่าระดับ 5.4% ในเดือน ก.ย. โดยการพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผอนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ และกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 4,000 ราย สู่ระดับ 267,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้แต่เดือน มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์เชิงบวกในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจากสมมุติฐานที่ว่า จะมีการบังคับใช้แผนการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานขอประธานาธิบดีโจ ไบเดน มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ที่ล่าสุดจะมีการลงนามบังคับใช้กฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Bipartisan Infrastructure Framework – BIF) ในวันจันทร์หน้า (15 พ.ย.) โดยในคืนนี้ (12/11) สหรัฐจะมีการเปิดเผยตัวเลขอัตราการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงาน (JOLTS) เดือน ก.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือ พ.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในวันจันทร์ (8/11) สำนักงานนโยบายการยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือน ต.ค. 64 อยู่ที่ระดับ 101.96 เพิ่มขึ้น 2.38% จากช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค. 64) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.99% สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ต.ค. 64 อยู่ที่ 100.59 เพิ่มขึ้น 0.21% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.23%

โดยนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สนค.เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ต.ค. 64 เป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก ประกอบกับสินค้าในกลุ่มอาหารสดบางชนิด โดยเฉพาะผักสดได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่และไข่ไก่ราคายังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน

แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ต่อมาในวันพุธ (10/11) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี พร้อมประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 หรือ 2564 และเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดแะการเปิดประเทศ รวมทั้งการเร่งกระจายวัคซีนส่งผลให้ความเสี่ยงด้านการระบาดต่ำลดลง แต่แนวโน้มการฟื้นตัวยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนพร้อมทั้งยังมองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 0.7% และ 3.7% ในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ ซึ่งขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน

อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าในวันพฤหัสบดี ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัง ก่อนกลับมาแข็งค่าในวันศุกร์ (12/11) โดยได้แรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้าทั้งในตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้น ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.72-33.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (12/11) ที่ระดับ 32.81/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (8/11) ที่ระดับ 1.1556/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (5/11) ที่ระดับ 1.1557/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ขณะที่นายลูอิส เด กินโดส รองประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนน่าจะปรับตัวลดลงในปีหน้า เนื่องจากปัจจัยที่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อนั้นส่งผลเพียงชั่วคราว แต่อัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างช้า ๆ รองประธาน ECB มองว่า อัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างแน่นอนในปี 2565 แต่อาจไม่ได้ปรับตัวลดลงรุนแรงอย่างที่เคยคาดไว้

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศยูโรโซนนั้นเกิน 4% ในเดือน ต.ค. ซึ่งมากกว่าเป้าหมายของ ECB ที่ระดับ 2% ถึง 2 เท่า และจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากราคาพลังงานและค่าขนส่งที่พุ่งสูงขึ้น ตลอดจนการปรับขึ้นภาษีบางส่วน และในวันพุธ (10/1) ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศเยอรมนีประจำเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 0.5% หากเทียบเป็นรายเดือนและอยู่ที่ระดับ 4.5% เมื่อเทียบเป็นรายปีซึ่งเท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยในวันพฤหัสบดี (11/11) ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญหลังการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์

โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1443-1.1608 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (12/11) ที่ระดับ 1.1444/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ วันนี้ (8/11) ที่ระดับ 113.56/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (5/11) ที่ระดับ 113.77/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการแสดงความเห็นของกรรมการ BOJ ในการประชุมประจำเดือน ต.ค.ในวันนี้

โดยระบุว่า กรรมการ BOJ เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ เนื่องจากเงินเฟ้อปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและการเติบโตของค่าจ้างยังคงอ่อนแรง ทั้งนี้ ภาวะติดขัดด้านอุปทานและต้นทุนสินค้าที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลกผลักดันให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นทั่วโลก ซึ่งกระตุ้นให้ธนาคารกลางบางแห่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือพิจารณายกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าต้นทุนพลังงานและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นผลักดันให้ราคาสินค้าสูงขึ้นในญี่ปุ่น แต่เงินเฟ้อในประเทศยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย 2% ของ BOJ เนื่องจากการบริโภคอันอ่อนแอได้ขัดขวางบริษัทต่าง ๆ จากการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังภาคครัวเรือน โดยวันพฤหัสบดี (11/11) ค่าเงินเยนกลับมาอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันพฤหัสบดีญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตของเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 1.2% เมื่อเทียบเป็นรายเดือนซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 0.4%


สำหรับความเคลื่อนไหวในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศนั้น ล่าสุดคณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นประกาศอนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 3 ของบริษัทไฟเซอร์เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยจะเริ่มฉีดให้กับบุคลากรการแพทย์เป็นกลุ่มแรกตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.72-114.21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (12/11) ที่ระดับ 113.97/114.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ