หุ้นไทยแกว่งตัวรอปัจจัยใหม่ จับตาสภาพัฒน์คาดการณ์ GDP ปีหน้า-ประชุมสหรัฐจีน

หุ้น

บล.ฟิลลิปประเมินตลาดหุ้นไทยยังไม่สามารถขยับไปไหนได้ไกลในกรอบระหว่าง 1,625-1,640 จุด เพื่อรอปัจจัยใหม่ คาดเช้านี้นักลงทุนให้น้ำหนักตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของไทย คาดหดตัวจากล็อกดาวน์ จับตาคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่าจะฟื้นตัวได้โดดเด่นหรือไม่ ด้านปัจจัยต่างประเทศติดตามท่าทีสองมหาอำนาจโลก “สหรัฐ-จีน” นัดประชุมหารือ

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ว่า คาดดัชนี SET index เช้านี้จะยังไม่สามารถขยับไปไหนได้ไกลในกรอบระหว่าง 1,625-1,640 จุด เพื่อรอปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามา โดยในวันนี้ตลาดจะให้น้ำหนักกับประเด็น 1.ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของไทย ที่ทางสภาพัฒน์จะประกาศในช่วงเช้าวันนี้ ซึ่งตลาดคาดว่าจะหดตัวจากการล็อกดาวน์ และ 2.การหารือระหว่างผู้นำสหรัฐ-จีน ที่จะมีผลต่อทิศทางการเมืองโลกในระยะถัดไป

กลยุทธ์การลงทุนเน้น “Selective Play” เก็งกำไรในการประกาศงบฯโค้งสุดท้าย และหุ้นที่รับประโยชน์จากการเปิดประเทศเป็นหลัก (BEM, KTC)

สำหรับ GDP ไตรมาส 3 ของไทย ตลาดคาดหดตัวราว 0.8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และ 2.5% จากไตรมาสก่อนหน้า จากการได้รับผลกระทบเต็มไตรมาสของการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทั้งนี้ ต้องติดตามคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่าจะฟื้นตัวได้โดดเด่นหรือไม่

หลังทุกฝ่ายมองว่าไตรมาส 3 ของปีนี้จะเป็นจุดต่ำสุดและทยอยฟื้นตัวตามลำดับหากการปิดประเทศไม่สะดุด อีกทั้งมุมมองเศรษฐกิจไทยยังมีผลต่อนโยบายทางการเงินในอนาคตหลังธนาคารกลางทั่วโลกเตรียมใช้นโยบายทางการเงินแบบตึงตัว

แต่ทางฝ่ายวิจัยยังเชื่อว่าตลอดทั้งปี 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิมที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เว้นแต่ว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวโดดเด่นได้เท่ากับระดับก่อนวิกฤต COVID-19 หรือกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาดช่วงกลางปี 2565

ด้านการหารือวันนี้ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่ก่อนหน้านี้ทั้งสองเคยหารือกันผ่านทางโทรศัพท์ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะประชุมร่วมกันแบบ Virtual Conference ที่ต้องติดตามท่าทีของสองมหาอำนาจโลกว่าจะมีแนวโน้มลดความขัดแย้งและแข่งขันกันลงได้หรือไม่ ทางฝ่ายวิจัยเชื่อว่าจีนจะยังคงย้ำจุดยืนเรื่องไต้หวัน ซินเจียง และทะเลจีนใต้ ไม่ให้สหรัฐเข้ามาแทรกแซง

ขณะที่สหรัฐคาดหวังจะได้บรรจุข้อตกลงทางการค้าเพิ่มเติม แต่เชื่อว่าทั้งสองประเทศจะเห็นตรงกันในเรื่องสภาพอากาศ โดยเฉพาะการร่วมมือกันลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมพลังงานสะอาดเพื่อลดภาวะโลกร้อน

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญสัปดาห์นี้คือ 1.ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน 2.ยอดค้าปลีกของสหรัฐ เดือน ต.ค. และ 3.ตัวเลขเงินเฟ้อสหภาพยุโรป