สภาพัฒน์ห่วงหนี้ครัวเรือนไทย กำชับ ธปท.แก้ปัญหาทั้งระบบ

เอ็นพีแอล-แบงก์ชาติ-หนี้เสีย

สภาพัฒน์ห่วงหนี้ครัวเรือนไทย ปัจจัยเสี่ยงปี’65 กำชับ ธปท. แก้ปัญหาทั้งระบบ พร้อมประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้น หลังประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ามีมาตรการ

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงในการบริหารประเทศในปี 2565 นอกจากการฟื้นฟูการแพร่ระบาดโควิดแล้ว สภาพัฒน์ยังให้ความสำคัญกับหนี้ครัวเรือนที่จะต้องเข้าไปเร่งแก้ปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน หนี้บุคคล และหนี้ธุรกิจ

โดยขณะนี้หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับ 89% โดยมาตรการรวมหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกไปแล้วเมื่อเดือน ก.ย. 2564 หนี้ที่เป็นสถาบันการเงินเดียวกันสามารถรวมหนี้ได้ แต่ต่างสถาบันการเงินยังทำไม่ได้ ซึ่ง ธปท.ก็ต้องเร่งเข้าไปปรับ

นอกจากนี้ ธปท.จะต้องมีการประชาสัมพันธ์มาตรการดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการหารือร่วมกับสหภาพแรงงานที่มีปัญหาในแง่ของหนี้บุคคล หนี้สถาบันการเงิน และในด้านหนี้สหกรณ์ ส่วนที่เป็นหนี้บุคคล และหนี้ธนาคารพาณิชย์ เขายังไม่รู้ว่ามีมาตรการของ ธปท. จึงได้กำชับให้ผู้แทน ธปท.เร่งประชาสัมพันธ์ออกไป เพราะการรวมหนี้เหล่านี้ ประชาชนต้องเร่งเข้าไปดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะทำให้กำลังการใช้จ่ายลดลงเรื่อย ๆ หากไม่ปรับใหม่ จะแย่กันหมด

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนในภาคในภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องเอสเอ็มอีเพื่อรักษาระดับจ้างงาน โดยให้เงินช่วยเหลือเอสเอ็มอี 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง ไม่เกิน 200 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าเม็ดเงินจะออกช่วยปลายเดือน พ.ย.นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างลงทะเบียนของภาคเอสเอ็มอีที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งอยู่บนเงื่อนไขรักษาระดับการจ้างงานไม่ให้ต่ำกว่า 95% ส่วนนี้ก็จะช่วยดูแลปัญหาได้อีกทางหนึ่ง