“วิรไท” อดีตผู้ว่าการ ธปท. เผยภาครัฐใหม่ต้องมีประสิทธิภาพสูง-หยุดคอร์รัปชั่น

วิรไท สันติประภพ

“วิรไท” อดีตผู้ว่าการ ธปท. เผย 4 ปัญหาภาครัฐ ชี้จินตนาการใหม่ภาครัฐต้องมีประสิทธิภาพสูง สามารถตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ได้ หยุดคอร์รัปชั่น แก้กฎหมายให้สอดคล้องปัจจุบัน

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะกรรมการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานสัมมนาความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่ : โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19 หัวข้อเรื่อง “จินตนาการใหม่สำหรับภาครัฐ” ว่า ปัญหาภาครัฐในปัจจุบันมีอย่างน้อย 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ประสิทธิภาพในการให้บริการและการทำงานของภาครัฐ 2.ภาครัฐมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวข้องต่อเนื่องกับงบฯประจำ งบฯเงินเดือนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ไปจนถึงวิธีการทำงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นภาระในระยะยาว

3.โครงสร้างของภาครัฐ วิธีการทำงานของภาครัฐ ที่ไม่สามารถจัดการกับวิกฤตได้ และจะมีความเสี่ยงในอนาคต โดยเฉพาะวิกฤตโควิดจะเห็นได้ชัดเจนว่าความสามารถในการจัดการวิกฤตฉุกเฉินและเรื่องเร่งด่วน ดูเหมือนว่าภาครัฐไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้ และ 4.ปัญหาการคอร์รัปชั่น เป็นเรื่องที่น่ากลัว เนื่องจากทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ถูกไปใช้ในเรื่องที่ไม่มีคุณค่า จะทำลายความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ฉะนั้น จะต้องลดปัญหาดังกล่าวนี้

“เมื่อเราอยู่ท่ามกลางการระบาดจะได้ยินเรื่อง Tipping Point ถ้าปล่อยให้การระบาดเกินจุดหนึ่งไปแล้ว ปัญหาจะสะสมการระบาดจะรุนแรงมากขึ้น แล้วดึงกลับมายาก เช่น วันที่เรามีการติดเชื้อโควิดวันละ 100 ราย ที่ติดใหม่ต่อวัน คุมได้แบบนั้นไม่มีปัญหา แต่ถ้าปล่อยให้ติดเชื้อ 2,000-3,000 รายต่อวัน ยอดติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 รายเร็วมาก แล้วจะดึงลงกลับมาให้ต่ำกว่าหมื่นก็ยากมาก ซึ่งปัญหาของภาครัฐก็เช่นเดียวกัน อย่างที่เรียกไปนั้นถ้าปล่อยให้สะสมแล้วผ่าน Tipping Point จะแก้ยากมาก”

นายวิรไทกล่าวว่า สิ่งที่อยากจะเห็นภาครัฐควรจะมีในอนาคตนั้น ได้แก่ 1.ภาครัฐที่มีประสิทธิภาพสูง ต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพในทุกอย่าง 2.ต้องเป็นภาครัฐที่มองข้างหน้าตลอดเวลา มีความสามารถตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ ๆ ไม่ใช่ภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับเรื่องในอดีตเป็นหลัก

3.ภาครัฐควรมีขนาดที่เล็กลงเมื่อเทียบกับขนาดของระบบเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องรายได้ภาครัฐ ภาษี ซึ่งภาครัฐต้องไม่สร้างภาระภาษีให้กับประชาชนระยะยาว รวมถึงบทบาทรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการต่าง ๆ และ 4.อำนาจกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐ ซึ่งสะสมกันมานานหลาย 10 ฉบับ ที่ออกมาก่อนปี 2500 ซึ่งก็ยังใช้กันอยู่ จะเห็นชัดเลยว่าเป็นอำนาจรัฐในโลกแบบเดิม ซึ่งขณะนี้ต่างไปแล้วโดยสิ้นเชิง ควรจะมีการปรับให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านที่สำคัญ คือ ภาครัฐจะต้องทำงานร่วมกับด้านอื่น ๆ ของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีความสามารถทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ที่เก่งและมีความสามารถกว่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน เช่น ธุรกิจ สถาบันการศึกษา และในด้านภาคประชาสังคม เป็นต้น ภาครัฐต้องมีความคล่องตัวสูงและทันการณ์ ทั้งนี้ คุณสมบัติที่สำคัญของภาครัฐต้องไม่เป็นระเบิดเวลา ขณะที่โลกใช้มาตรฐานใหม่แล้ว และภาครัฐจะต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

“วิกฤตโควิดทำให้กันชนของภาครัฐลดลง เพราะหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น กันชนของภาคครัวเรือนก็ลดลงเพราะหนี้ครัวเรือนก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบมาก ซึ่งเชื่อมโยงว่าภาครัฐจะต้องมีประสิทธิภาพสูง ใช้ทรัพยากรลดลง มีจุดเด่นมากขึ้น จึงจะทำให้เราค่อย ๆ สร้างกันชนขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับภาวะวิกฤตใหม่ และมีความสามารถในการตอบสนองภาวะวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว”