ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ก้าวต่อไป MTC ผงาดสู่ธุรกิจแสนล้าน

ชูชาติ เพ็ชรอำไพ
ชูชาติ เพ็ชรอำไพ
สัมภาษณ์พิเศษ

ช่วงที่ผ่านมา “ธุรกิจจำนำทะเบียนรถ” มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาพการเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทั้งการที่ผู้เล่นหน้าเดิมขยับขยายธุรกิจโดยเข้าระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯกันหลายราย

แถมล่าสุดยังมีสถาบันการเงินขนาดใหญ่ประกาศตั้งบริษัทย่อยเข้ามาชิงตลาดอีก ทำให้มองได้ว่าการแข่งขันน่าจะดุเดือดมากยิ่งขึ้น อีกด้านหนึ่งทางการก็มีการกำกับดูแลธุรกิจนี้อย่างเข้มงวดมากขึ้น

แนวโน้มระยะข้างหน้าธุรกิจจะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ” มหาเศรษฐีอันดับ 10 ของเมืองไทย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (MTC) เจ้าตลาดจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ มานำเสนอ

30 ปี สู่พอร์ตสินเชื่อแสนล้าน

โดย “ชูชาติ” เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดจำนำทะเบียนรถที่ปัจจุบันมีมูลค่าราว 2 แสนล้านบาท MTC ถือเป็นเบอร์ 1 มีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) กว่า 50% ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมาได้เกือบ 30 ปีแล้ว (ชื่อเดิม เมืองไทย ลิสซิ่ง) และเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯมาแล้วประมาณ 8 ปี

ปัจจุบันมีเงินทุนแข็งแกร่ง สัดส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) ยังต่ำอยู่ที่ 2.8 เท่า ยังสามารถระดมทุนได้อีก 4-5 หมื่นล้านบาทเพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อ ซึ่งบริษัทใช้ทั้งหุ้นกู้และสินเชื่อแบงก์ ล่าสุดมีต่างชาติมาเสนอให้เงินทุนด้วย ทั้งจีนและญี่ปุ่น ดังนั้น สภาพคล่องจึงไม่มีปัญหา สามารถขยายธุรกิจไปได้อีก 4-5 ปี

ทั้งนี้ ถึงสิ้นปี 2564 นี้บริษัทน่าจะโตได้ 30% จาก 9 เดือนที่โตได้ 26% แล้ว ขณะที่สินเชื่อคงค้างสิ้นปีจะอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท และปีหน้า (2565) ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตอีก 30% สินเชื่อคงค้างเพิ่มเป็น 1.17 แสนล้านบาท

โดยจะเป็นปีที่บริษัทก้าวสู่ธุรกิจแสนล้านบาท ซึ่งในปีหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นและไม่น่ามีภัยแล้งเพราะมีน้ำเต็มเขื่อน ดังนั้น ความต้องการสินเชื่อน่าจะดีโดยฐานลูกค้า MTC มีอยู่ราว 2.5 ล้านราย ซึ่ง 80-90% เป็นเกษตรกร

“ความต้องการใช้เงินก็มีเป็นปกติอยู่แล้วในกลุ่มเกษตร เพราะเป็นช่วงเพาะปลูก ส่วนกลุ่มสาวโรงงานที่อาจจะตกงานในอดีต ตอนนี้ก็เริ่มกลับไปทำงานใหม่ จึงมีความจำเป็นในการใช้เงิน รวมถึงธุรกิจบริการก็เริ่มกลับมาหลังรัฐบาลเปิดประเทศ ดังนั้น ความต้องการสินเชื่อน่าจะมีมากขึ้น”

หั่นกำไร-รักษามาร์เก็ตแชร์

อย่างไรก็ดี สำหรับงวดไตรมาส 3 ที่ผ่านมา MTC มีกำไรสุทธิที่ 1,200 ล้านบาท ลดลงไปราว 9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุมาจาก 1.นโยบายทางการเรื่องการคิดดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และน้ำท่วม 2.วิธีการทางบัญชีที่เปลี่ยนมาใช้การตัดดอกเบี้ยแนวนอน ทำให้รายได้หายไป 40-50 ล้านบาท และ 3.ค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ค้างชำระที่ถูกคุม

อย่างไรก็ดี หากดูรายรับบริษัทถือว่าโตขึ้นอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 3,600-3,700 ล้านบาท

“กำไรสุทธิลดลงมันแลกกับอะไร อย่างแรกคือ มาร์เก็ตแชร์ ถ้าเอากำไรสูงลูกค้าก็ไม่อยากใช้ ก็ไปใช้ที่อื่น มาร์เก็ตแชร์ก็ลดลงมา แต่ถ้าลดดอกเบี้ยลงมาคนก็มาใช้ มาร์เก็ตแชร์ก็เพิ่มขึ้น จะเห็นว่านโยบายของบริษัทพยายามรักษาอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเรียกว่า ต่ำที่สุดในระบบก็ได้ ดอกเบี้ยเฉลี่ย 15-16%”

โควิดไม่กระทบ-หนี้เสียคุมได้

ทั้งนี้ ช่วงวิกฤตโควิด-19 “ชูชาติ” บอกว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนักสะท้อนจากหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ยังอยู่ที่ระดับ 1.1-1.2% เนื่องจากบริษัทมีการสกรีน (คัดกรอง) ลูกค้าตั้งแต่แรกที่มาขอกู้ หากเสี่ยงมากก็จะให้วงเงินน้อยหน่อย

รวมถึงพิจารณาว่าเป็นคนในพื้นที่หรือไม่ ขณะเดียวกัน MTC ปล่อยกู้ต่อรายไม่ได้สูงมากประมาณ 1-3 หมื่นบาทต่อราย ชำระเดือนละ 1,000 บาท ระยะเวลา 12-15 เดือน จึงไม่เป็นภาระมาก ทำให้การชำระไม่ค่อยมีปัญหา

ปูพรมสาขา-เปิดบริการใหม่

ด้านกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจปีหน้า “ชูชาติ” บอกว่า ยังคงมุ่งรักษามาร์เก็ตแชร์โดยขยายสาขาปีละราว 600 สาขา ปัจจุบันมีราว 5,700 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งตั้งเป้าขยายเป็น 7,000 สาขา ลุยเจาะระดับตำบลมากขึ้น แต่ละสาขาจะใช้คนให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ละสาขาจะมีลูกหนี้คงค้างเฉลี่ย 15 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งสูงกว่าคู่แข่ง

นอกจากนี้ MTC ได้ตั้งบริษัทย่อยใหม่“เมืองไทย เพย์ เลเทอร์” ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ “ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง” เป็นโปรดักต์เสริมเพื่อสร้างรายได้ เน้นฐานลูกค้าเดิมที่มีประวัติผ่อนชำระดี ซึ่งบริษัทจะดีลกับร้านค้าต่าง ๆ ในต่างจังหวัดก็จะเป็นพวกห้างค้าปลีก บิ๊กซี โลตัส แม็คโคร เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างวางระบบหลังบ้าน คาดว่าน่าจะเริ่มธุรกิจได้ในปี 2565

ตลาดแข่งเดือด-มาก่อนได้เปรียบ

ส่วนภาพการแข่งขันในธุรกิจจำนำทะเบียนรถนั้น “ชูชาติ” กล่าวว่า ธุรกิจนี้เป็นตลาดที่แข่งขันกันสูง เป็น “red ocean” เพราะมีโอกาสทำกำไร (margin) ได้ดี แต่ผู้ประกอบธุรกิจที่เข้ามาก็ไม่ใช่หน้าใหม่เสียทีเดียว

หลายรายที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็เป็นรายเดิมที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ระดมทุนในตลาดหุ้นก็มีการแข่งขันกันอยู่แล้ว ซึ่งปีนี้มี 2 ราย และปีหน้าคาดว่าจะมีอีก 2 ราย

ขณะที่การเข้ามาของแบงก์ใหญ่คงต้องรอดูก่อนว่าจะเข้ามาในแบบใด แต่ยืนยันว่าไม่ได้กังวล

“ปีหน้าบริษัทเราจะมีอายุครบ 30 ปี ซึ่งด้วยประสบการณ์และอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% ทำให้เราไม่กังวลกับคนมาใหม่ แต่ถ้า MTC โตแค่ 5-6% แบบนั้นอาจจะคิดหนักได้ ผมว่าการแข่งขันมันอยู่ที่ว่ามาเร็วหรือมาช้า ถ้าคุณมาหลังเขาเกือบ 10 ปี ลูกค้าติดใจในบริการเขาอยู่แล้ว ก็เหมือนทำบัตรเอทีเอ็มใช้แบงก์หนึ่งอยู่ แล้วมีแบงก์อื่นมาชวน ถ้าเงื่อนไขเหมือนกันหมด ใครจะเปลี่ยน หรือคุณมาทีหลังแล้วมาทำแคมเปญลดดอกเบี้ย อาจจะไม่ถูกหลักการตลาดนะ พลิกตำราผิดเล่มหรือเปล่า เพราะผมอยู่มานานแล้ว กำไรสะสมเยอะแยะ บริหารต้นทุนได้”

ส่วนโจทย์ท้าทายที่ยังกังวล “ประธานกรรมการบริหาร MTC” บอกว่า กังวลเกณฑ์กำกับดูแลใหม่ ๆ ของภาครัฐ อย่างตอนนี้ก็มีเรื่องดอกเบี้ยเช่าซื้อที่จะให้ผู้ประกอบการคิดอัตรา 15% ต่อปี ซึ่งมีการเปิดรับความคิดเห็นไปแล้ว ก็มีเสียงคัดค้านและอยากให้อ้างอิงกับดอกเบี้ยพิโกไฟแนนซ์ที่ 33%

เพราะหากคิดดอกเบี้ยต่ำเกินไป ผู้ให้กู้ก็ไม่อยากปล่อย สุดท้ายผลร้ายจะตกกับประชาชนที่อาจเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบนั่นเอง