ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ท่ามกลางการจับตาตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/11) ที่ระดับ 32.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/11) ที่ระดับ 32.72/73 บาท/ดอลลาร์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีกว่าคาด โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยดัชนีภาคการผิด (Empire State Index) รายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตพุ่งขึ้นสู่ระดับ 30.9 ในเดือน พ.ย. สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 22.00 จากระดับ 19.8 ในเดือน ต.ค. โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการดีดตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.64% ท่ามกลางการจับตาตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐ เพื่อหาสัญญาบ่งชี้ทิศทางการดำเนินมาตรการทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สภาพัฒน์รายงานจีดีพีไตรมาส 3/64 หดตัว 0.3% เทียบปีต่อปี ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ และคาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัว 1.2% ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 3/64 และเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค และการเร่งกระจายวัคซีน ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านต่ำลดลง กนง.มองว่าค่าเงินบาทผันผวนมากขึ้น จากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ไม่แน่นอน โดย กนง.ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และคาดว่าการประชุมเดือน ธ.ค. 64 จะมีการปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามต้นทุนพลังงาน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.68-32.76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (16/11) ที่ระดับ 1.1376/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (15/11) ที่ระดับ 1.1445/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง หลังนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณว่า ECB จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับปัจจุบันในปีหน้า แม้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม ในระหว่างการแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและการเงินของรัฐสภายุโรปเมื่อวานนี้

ทั้งนี้นางลาการ์ดมองว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะกลางยังคงซบเซา อย่างไรก็ดี นางลาการ์ดเห็นด้วยกับการประเมินของ ECB ที่ว่า ปัญหาคอขวดด้านอุปทานและราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นนั้น จะบรรเทาลงในปี 2565 และแรงงานกดดันช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้อจะเข้าสู่ภาวะสมดลเป็นวงกว้าง โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1365-1.1386 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1368/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/11) ที่ระดับ 114.15/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (15/1) ที่ระดับ 113.84/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์ได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐกับญี่ปุ่นทิ้งช่วงห่างกันมากขึ้น โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.11-114.32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.15/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐ (16/11), ตัวเลขเงินเฟ้ออังกฤษ (17/11), ตัวเลขเงินเฟ้อยูโรโซน (17/11), ตัวเลขสร้างบ้านสหรัฐ (17/11), จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (18/11), ยอดค้าปลีกอังกฤษ (19/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.70/+1.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.10/-0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ