บีบ”โบรกเกอร์”เข้าเครดิตบูโร ธปท.-กลต.คุมเสี่ยงเซียนหุ้น

แบงก์ชาติหารือ ก.ล.ต.ต้อน “บริษัทหลักทรัพย์” เข้าเป็นสมาชิก “เครดิตบูโร” หนุนสร้างฐานข้อมูลการเงินเพื่อบริหารความเสี่ยงแบบครบวงจร สมาคมโบรกฯขานรับนโยบาย หนุนเช็กเครดิต “บัญชีมาร์จิ้น” ด้าน “ขาใหญ่” โวยไม่มีความจำเป็น โบรกเกอร์มีมาตรการป้องกันอยู่แล้ว

บีบโบรกเกอร์เข้าเครดิตบูโร

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วางแนวทางการควบคุมปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยการเปิดโครงการคลินิกแก้หนี้ และเตรียมออกมาตรการปรับลดวงเงินการปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน นอกจากนี้เมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ธปท. ยังได้มีการหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการที่จะดึงให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เข้าเป็นสมาชิกและส่งข้อมูลทางการเงินของลูกค้าให้กับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ทั้งนี้เพื่อที่จะได้มีการจัดเก็บฐานข้อมูลทางการเงินที่ครบถ้วน

ข้อมูลจาก บล. ถือว่ามีส่วนสำคัญในระบบการเงิน เพราะมีทั้งรูปแบบการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Loan) ซึ่งสุดท้ายแล้วการสร้างฐานข้อมูลทางการเงินให้ครบวงจรจะทำให้สถาบันการเงินสามารถประเมินความเสี่ยงได้มากขึ้น

“ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ได้วงเงินซื้อขายหุ้น 200 ล้านบาท และมีการซื้อขายหุ้น 100 ล้านบาท หากเกิดปัญหาไม่สามารถชำระราคาหุ้นได้ และถูกบังคับขายหุ้นแต่ได้เงินกลับมาเพียง 60 ล้านบาท หมายความว่า นาย ก.มีหนี้ 40 ล้านบาท หรือเป็นคนจ่ายหนี้ไม่ตรงเวลาในการให้วงเงินซื้อหุ้นสูง ๆ ก็มีความเสี่ยง ทั้งหมดคือ Credit Risk Management ” แหล่งข่าวกล่าวและว่าแนวทางการนำธุรกิจหลักทรัพย์เข้าเครดิตบูโรถือเป็นการบริหารความเสี่ยง และตามกฎหมายเครดิตบูโร กำหนดว่าการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น ถือเป็นสินเชื่อ ดังนั้นหาก บล.เข้ามาเป็นสมาชิก ก็ต้องส่งข้อมูลสินเชื่อให้กับเครดิตบูโร อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังคงต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากตอนนี้ต้องให้ฝั่ง บล. หารือกันภายในให้ตกผลึกก่อนว่าจะมีแนวทางการดำเนินการอย่างไร

นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน สำนักงาน ก.ล.ต.กล่าวว่า การที่ บล.เข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโรจะส่งผลดีในการเข้าถึงศูนย์กลางข้อมูลเครดิตซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ บล.สามารถวิเคราะห์และกำหนดวงเงินแก่ลูกค้าบัญชีมาร์จิ้นได้อย่างเหมาะสม จึงเห็นควรส่งเสริมให้ บล.พิจารณาในเรื่องดังกล่าว แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละบริษัท เพราะจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดสำหรับการเป็นสมาชิกเครดิตบูโรด้วย

ส.โบรกหนุนเช็ก “บัญชีมาร์จิ้น”

ด้านนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (โบรกเกอร์) กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีก่อน สมาคมเคยมีแนวคิดที่จะให้บริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ เข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร แต่หลังจากมีการศึกษาแล้วพบว่าต้นทุนในการดำเนินการ เช่น การต่อเชื่อมและค่าใช้จ่ายในการเป็นสมาชิกยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงพักการดำเนินการเอาไว้ก่อน แต่หาก ธปท.และ ก.ล.ต. ต้องการให้สมาคมดำเนินการ สมาคมก็จะต้องพิจารณารายละเอียดในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง

“เรื่องนี้ถ้าจะเอามาปัดฝุ่นก็ได้ แต่ขณะนี้เรายังไม่ทราบว่าทางการต้องการจะให้ทำอะไรบ้าง คงต้องดูรายละเอียดว่าจะให้ส่งข้อมูลอะไรบ้าง เพราะต้นทุนดำเนินการสมัยนี้ก็น่าจะลดลงแล้ว เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามา แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง” นางภัทธีรากล่าว

โดยมองว่าลูกค้าที่น่าจะต้องเข้าไปตรวจสอบข้อมูล หรือใช้เครดิตบูโรเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเช็กข้อมูลนั้น น่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่เปิดบัญชีเพื่อเล่นบัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (บัญชีมาร์จิ้น) มากกว่าบัญชีเงินสด (แคชบาลานซ์) เนื่องจากบัญชี แคชบาลานซ์ต้องวางเงินสดเต็มจำนวนก่อนซื้อหุ้นอยู่แล้ว จึงไม่ใช่กลุ่มที่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนที่ซื้อหุ้นด้วยบัญชีมาร์จิ้นโดยภาพรวมยังถือว่าไม่มีความผิดปกติ หรือมีความเสี่ยงใด เนื่องจากโบรกฯจะให้นักลงทุน วางเงินสด หรือหุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันส่วนหนึ่งอยู่แล้ว แม้มีเหตุการณ์ที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลง โบรกฯก็ยังมีทุนส่วนนั้นรองรับอยู่

“ถ้าจะต้องทำจริง ๆ ก็คงต้องให้มีผลกระทบต่อลูกค้าน้อยที่สุด เพราะตอนนี้บรรยากาศการซื้อขายก็ไม่เอื้ออำนวย” นางภัทธีรากล่าว

ขาใหญ่โวยไร้ความจำเป็น

แหล่งข่าวจากนักลงทุนใหญ่รายหนึ่งกล่าวว่า หากมีการใช้เครดิตบูโรตรวจสอบนักลงทุนก่อนเปิดบัญชี จะไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมนัก เพราะปัจจุบันบรรยากาศการซื้อขายก็ค่อนข้างซบเซาอยู่แล้ว จนทำให้นักลงทุนที่เข้ามาในตลาดมีปริมาณไม่มากนัก หากทางการต้องการใช้มาตรการดังกล่าว เพื่อควบคุมความเสี่ยงของการซื้อขายผ่านบัญชีมาร์จิ้น ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะปัจจุบันก็มีมาตรการรองรับอยู่แล้ว คือหากดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงแรงจนหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ นักลงทุนซื้อขายผ่านบัญชีมาร์จิ้น ก็อาจจะถูกบังคับขายได้

“ตอนนี้ สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ทำไมจะต้องตรวจสอบนักลงทุนโดยใช้เครดิตบูโรอีก แล้วปัจจุบันก็มีมาตรการคุ้มกันจากฝั่งโบรกเกอร์อยู่แล้ว โดยนักลงทุนที่จะใช้บัญชีมาร์จิ้นก็ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเอาไว้ ไม่มีเหตุผล ที่เรื่องนี้จะต้องดำเนินการ” แหล่งข่าวกล่าว

โบรกฯทองหนุนร่วมเป็นสมาชิก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่ผ่านมา บริษัท วาย แอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ค้าทอง ที่ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ได้เคยเข้าเป็นสมาชิกแต่ได้ยุติการเป็นสมาชิกในเวลาต่อมา โดยนางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วาย แอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) กล่าวว่า บริษัทเคยเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร แต่เนื่องจากในกลุ่มโบรกเกอร์ทองไม่มีบริษัทแห่งอื่นเข้าร่วม ทำให้นักลงทุนที่เปิดบัญชีซื้อขายกับบริษัทมีขั้นตอนยุ่งยากกว่าบริษัทอื่น ดังนั้นบริษัทจึงต้องยุติการตรวจสอบข้อมูลจากเครดิตบูโร

“การตรวจสอบเครดิตของลูกค้าเป็นเรื่องดี ถ้าทางการออกเป็นมาตรการให้ทำเหมือนกันทุกบริษัทก็จะง่ายขึ้น” นางสาวฐิภากล่าว

ขณะที่นายธนรัชต์ พสวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส กล่าวว่า บริษัทเคยมีแนวคิดที่จะเป็นสมาชิกเครดิตบูโรเช่นกัน แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากประเมินแล้วว่าหากบริษัทเข้าเป็นสมาชิกเพียงบริษัทเดียว แต่บริษัทอื่นไม่ทำก็อาจทำให้เป็นข้อจำกัดทางธุรกิจได้