TMB ชง ธปท.ใช้โรบอตประเมินหลักทรัพย์ค้ำกู้ซื้อบ้าน

“ปิติ” ว่าที่เอ็มดีใหม่ แบงก์ทีเอ็มบี ชง ธปท.ขอใช้ “โรบอต” หนุนประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกันแทนคน นำร่องลูกหนี้ “บ้าน-คอนโดฯ-ที่ดิน” หวังลดต้นทุนรายจ่ายปีละหลักร้อยล้านบาท ชูแผน 5 ปี ลดต้นทุน-สร้างรายได้

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ธนาคารทหารไทย (TMB) และว่าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ ที่จะมีผลวันที่ 1 ม.ค. 2561 เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนำระบบ Data analytics และ Machine Learning ซึ่งเป็นระบบโรบอต หรือที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้วิเคราะห์และประเมินราคาหลักทรัพย์ค้ำประกันของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้บ้าน-คอนโดฯ ฯลฯ เนื่องจาก ธปท.กำหนดให้แบงก์ประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกันใหม่ทุก 8 ปี ว่ามูลค่าเพิ่มขึ้นรือลดลง ในกรณีลูกหนี้ที่ยังอยู่ระหว่างการผ่อนชำระหนี้ ในกรณีที่มูลค่าหลักทรัพย์ปรับลดลง หรือลูกหนี้สินเชื่อหยุดการชำระหนี้ ฝั่งแบงก์จะต้องตั้งค่าความเสี่ยงเพิ่ม ซึ่งทำให้ต้องเพิ่มเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น การใช้ระบบเข้ามาจะทำให้แบงก์ไม่ต้องส่งคนไปประเมินหลักทรัพย์ แต่ระบบจะนำข้อมูลสถิติจากทุกแหล่งเข้ามาประมวลผล

และวิเคราะห์ผลออกมาเป็น “มูลค่าปัจจุบัน” ทำให้แบงก์สามารถลดต้นทุนราวหลักร้อยล้านบาทต่อปี อีกทั้งจากการทดลองใช้ระบบข้างต้น พบว่ามีความแม่นยำสูงมากถึง 98% ซึ่งใกล้เคียงกับการส่งคนออกไปประเมินมากที่สุด

“ธปท.กำหนดให้แบงก์ประเมินหลักทรัพย์ใหม่ทุก 8 ปี เพื่อดูว่าหลักทรัพย์สถานภาพเปลี่ยนไปหรือไม่ หรือพอร์ตธนาคารเป็นอย่างไร เราจึงเอาเทคโนโลยีมาคิดในมุมมองใหม่ ซึ่งก็ได้พิสูจน์แล้วว่าระบบนี้เวิร์ก แต่เราจะใช้ประเมินแค่สินทรัพย์บางประเภท เช่นบ้าน คอนโดฯ ที่ดิน เท่านั้น ส่วนหลักทรัพย์ที่เป็นเครื่องจักร หรือโรงงาน ยังต้องส่งคนออกไป เพราะมูลค่าสูง”

นายปิติกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม หลักทรัพย์ค้ำประกันของธนาคารหากเป็นที่ดิน ส่วนใหญ่จะมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ทำให้ที่ดินและมูลค่าหลักทรัพย์ของลูกหนี้ธนาคารยังมี “มูลค่าสูง” เพียงแต่ว่าการนำระบบ AI มาใช้เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับแผนระยะ 5 ปีของธนาคาร (ปี2561-2565) ที่เน้นการลดรายจ่ายให้เหลือ 40% ของรายจ่ายรวม

สำหรับทิศทางธนาคารในระยะ 5 ปีข้างหน้า นายปิติกล่าวว่า ในส่วนของแผนงาน Digital Transformation ธนาคารมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ การลงทุนระบบให้มีศักยภาพ มีเสถียรภาพมากขึ้น


และมีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ยังได้ตั้งเป้าหมายลดการทำงานด้านเอกสารลงด้วย โดยเปลี่ยนมาเป็นใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และสุดท้ายคือเปลี่ยนช่องทางการบริการต่าง ๆ ให้ลูกค้าสะดวกมากขึ้น ผ่านโมบายแบงกิ้ง ซึ่งธนาคารได้ตั้งเป้าหมายขยายฐานลูกค้าดิจิทัล (Active Digital Customer) อีก 1 เท่าตัว จากปัจจุบันประมาณ 1 ล้านราย และสุดท้ายคือการขยายฐานรายได้อีก 1 เท่าตัวในอนาคต