บสย.ลุยอุ้ม SMEs เสี่ยงหนี้เสีย ค้างชำระ “ไม่เกิน 3 เดือน” เข้าถึงสินเชื่อได้

พักหนี้-ยืดหนี้-sme-รายย่อย

บสย.เตรียม 3 หมื่นล้านบาท ลุยค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีกลุ่มเสี่ยงตกชั้นเป็นหนี้เสีย หวังดูแลผู้ประกอบการครอบคลุมทุกด้าน เร่งเครื่องค้ำสินเชื่้อฟื้นฟูเฟส 2 อีก 1 แสนล้านบาทไตรมาสสุดท้ายปีนี้ พร้อมเตรียมโมเดลค้ำประกันสินเชื่อน็อนแบงก์-รอคลังประกาศเกณฑ์ คาดเริ่มปีหน้า

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ บสย.จะออกผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อใหม่

เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่มที่ค้างชำระหนี้ระหว่าง 1-3 เดือน หรือเอสเอ็มอีกลุ่มหนี้จัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ (SM) ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ภายใต้วงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท

ซึ่งเป็นการใช้วงเงินจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ (PGS 9) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือในรายละเอียด

“ตอนนี้เรากำลังพิจารณารายละเอียดการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่ม SM ซึ่งเราจะต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะสุดท้ายแล้ว บสย.ต้องเป็นผู้รับหนี้เอาไว้เองจากการค้ำประกัน ซึ่งเราก็เข้าใจว่าตัวเองเป็นจุดสุดท้าย เวลาที่ธนาคารเคลมแล้วเราต้องรับหนี้ไว้เอง

แต่ก็พยายามจะทำให้ผู้ประกอบการที่ขาดหลักประกันในทุก ๆ ด้านได้ใช้สินเชื่อ ทั้งนี้ เราพยายามที่จะดูแลให้ครอบคลุมทุกกลุ่มให้มากที่สุด แต่อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง”

โดยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ บสย.จะเร่งดำเนินการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อเพื่อเติมทุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำไปใช้ในการปรับปรุงและฟื้นกิจการตามแผนเปิดประเทศ มั่นใจว่าโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู ระยะ 2 วงเงิน 100,000 ล้านบาท

จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งได้ปรับปรุงเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อให้ดียิ่งขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี และเอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบาง

ช่วยลดภาระต้นทุนค่าธรรมเนียม และเพิ่มโอกาสได้วงเงินสินเชื่อเพิ่ม ล่าสุดจนถึงสิ้นเดือน ต.ค. 2564 บสย.อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูเฟส 2 ไปแล้ว 13,227 ล้านบาท ดูแลเอสเอ็มอีกว่า 17,065 ราย

ในส่วนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ บสย.ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ได้อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อรวมทุกโครงการเป็นวงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท และอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) ไปแล้ว 187,446 ฉบับ วงเงินเฉลี่ย 6-7 แสนบาทต่อราย

แสดงให้เห็นว่า บสย.ได้ช่วยให้เอสเอ็มอีรายเล็กเข้าถึงสินเชื่อได้ตามพันธกิจ ซึ่งก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 215,237 ล้านบาท คิดเป็น 1.07 เท่า สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ 4.13 เท่าของวงเงินค้ำประกัน คิดเป็นมูลค่า 833,333 ล้านบาท ก่อเกิดการจ้างงาน 2,050,661 ราย

รักษาการผู้จัดการทั่วไป บสย.กล่าวด้วยว่า บสย.ยังอยู่ระหว่างการเตรียมโมเดลการค้ำประกันสินเชื่อรูปแบบใหม่ เพื่อเข้าไปค้ำสินเชื่อที่ปล่อยโดยผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์(น็อนแบงก์)

ซึ่งคาดว่าจะเริ่มค้ำประกันได้ในปี 2565 เนื่องจากยังอยู่ระหว่างขั้นตอนรอออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อน็อนแบงก์

เช่น คุณสมบัติของน็อนแบงก์ที่ บสย.สามารถเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อได้ซึ่งจะต้องมีความน่าเชื่อถือเพื่อลดความเสี่ยงของ บสย.