เปิดใจ…นายกสมาคมประกันฯ ผลักดันยก เลิกกรมธรรม์ “เจอ-จ่าย-จบ”

ปมร้อนประกันโควิด-19 “เจอ-จ่าย-จบ” ที่ธุรกิจประกันอยากขอยกเลิก เพราะประสบผลขาดทุนอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้ถูกสังคมตั้งคำถามว่า บริษัทประกันหวังแต่กำไรหรือไม่

กล่าวคือ พอมีกำไรก็แห่ขายกรมธรรม์กัน แต่พอขาดทุนก็ไม่อยากรับผิดชอบ ล่าสุด “อานนท์ วังวสุ” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ออกมาเปิดใจถึงกรณีที่เกิดขึ้น

ยันไม่คิดเอาเปรียบประชาชน

โดย “อานนท์” กล่าวว่า ต้องขอโทษแทนสมาชิกบริษัทประกันวินาศภัยที่เกิดความผิดพลาดในการคำนวณตัวเลข แต่ทุกบริษัทไม่มีเจตนาที่จะเอาเปรียบ หรือจะทอดทิ้งประชาชน และไม่ได้โลภ

หรืออยากได้เบี้ยประชาชนมาก ๆ แต่ธุรกิจทำผลิตภัณฑ์ตัวนี้ เพื่อช่วยรัฐในการบริหารความเสี่ยงแก่ประชาชน รวมถึงธุรกิจไม่ได้รับประกันเกินตัว เพราะมีหลักในการบริหารเงินกองทุนอยู่แล้ว

โดยกำหนดอยู่ในพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ห้ามรับเสี่ยงภัยต่อหนึ่งภัยเกิน 10% ของเงินกองทุน

แต่เนื่องด้วยจำนวนผู้ซื้อกรมธรรม์ที่เข้ามาเร็วมากในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 มีผู้ซื้อมากกว่า 13 ล้านกรมธรรม์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

และเมื่อรวมกับยอดขายไตรมาส 1 ปี 2564 อีก 1.8 ล้านกรมธรรม์ ส่งผลให้ยอดขายรวมกว่า 15 ล้านกรมธรรม์ สูงกว่าทั้งปี 2563 ที่มียอดขายรวม 9 ล้านกรมธรรม์

“เมื่อทุกบริษัทรู้ว่าไม่ควรจะรับประกันไว้มากขนาดนั้น แต่ละบริษัทจึงพยายามติดเบรก และประกาศหยุดขายกรมธรรม์แบบเจอจ่ายจบ ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 เพราะภัยสะสมสูงกว่าคาดหมายไปมาก

และเมื่อเกิดระบาดโควิดระลอกใหม่ ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564 ยอดจ่ายเคลมก็พุ่งเร็วมาก และด้วยสถานการณ์โควิดที่ยังคงยืดเยื้อ รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการเกิดการระบาดระลอกใหม่

จากแผนการเปิดประเทศ ธุรกิจจึงมีความจำเป็นที่ต้องบริหารความเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ จึงเป็นสาเหตุที่ต้องขอให้ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล”

ผวาติดเชื้อพุ่ง-บริษัทส่อเจ๊ง

“อานนท์” กล่าวว่า ผู้ที่ทำประกันโควิดเจอจ่ายจบไป จะไม่กลัวติดเชื้อ โดยจากสถิติอัตราผู้ติดเชื้อในประเทศไทยราว 1.88 ล้านคน พบว่าเป็นผู้ที่ทำประกันโควิดไว้สูงถึง 3.2 แสนกรมธรรม์

หรือ 3.8% ของผู้ถือกรมธรรม์ 8.5 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งสูงกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรไทยทั่วไปถึง 35.7% นอกจากนี้ข้อมูลจากท็อป 5 ของบริษัทที่รับประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบ แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบ มีอัตราการติดเชื้อสูงถึง 4.2% ซึ่งสูงกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรไทยทั้งหมดถึง 46.85%

“คนที่ซื้อประกันโควิดเจอจ่ายจบไม่กลัวติดเชื้อ ซึ่งจริง ๆ แล้ว คนที่ฉีดวัคซีนไม่ควรติดโควิด แม้จะใช้ชีวิตตามปกติแล้ว นี่จึงอาจเป็นสาเหตุให้การระบาดของเชื้อมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ต่อเนื่อง และจะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของแผนการเปิดประเทศได้”

ขณะที่จากสถิติการเคลม จนถึงวันที่ 15 พ.ย. 2564 ทั้งระบบมียอดเคลมโควิดสูงกว่า 37,000 ล้านบาทแล้ว จากเบี้ยรับ 10,562 ล้านบาท คิดเป็น 26.5% ของเงินกองทุนมูลค่ารวม 132,294 ล้านบาท

โดยในจำนวนนี้เป็นยอดเคลมเจอจ่ายจบ 29,750 ล้านบาท จากเบี้ยรับ 7,455 ล้านบาท คิดเป็น 26.8% ของเงินกองทุนมูลค่ารวม 110,942 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเคลมประกันอื่น ๆ

โดยคาดว่าถึงสิ้นปีนี้ ยอดเคลมโควิดจะสูงถึง 40,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเจอจ่ายจบถึง 34,000 ล้านบาท จากเบี้ยรับ 7,455 ล้านบาท คิดเป็น 30.6% ของเงินกองทุนมูลค่ารวม 110,942 ล้านบาท

“ภาพทั้งหมดนี้ อาจมีบางบริษัทที่มีความเสียหายสูงกว่าเงินกองทุนไปแล้ว และอาจเพิ่มสูงถึง 60-70% ของเงินกองทุน หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันหลายรายไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้”

จี้รัฐแก้ปัญหาก่อน “เรือจม”

“ผมไม่ได้บอกว่าคำสั่งดังกล่าวผิด เพียงแต่โดยหลักการอยากให้แก้ปัญหาอุปสรรคได้ในทุกคำตอบของกรมธรรม์ ถ้าลูกค้าเปลี่ยนตามข้อเสนอของบริษัทประกันคงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าไม่เปลี่ยนจะทำอย่างไร

เพราะตอนนี้ในคำสั่งจะมีผลย้อนหลังกับกรมธรรม์ที่ขายไปแล้วทั้งหมด ซึ่งกว่าจะหมดอายุความคุ้มครองถึงกลางปีหน้า ซึ่งถ้าไม่รีบแก้ไขอาจจะสายเกินไปแล้วก็ได้ เพราะกระบวนการบอกเลิกต้องแจ้งลูกค้าล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันถึงจะมีผล แต่ระหว่างทางยังต้องจ่ายเคลมหากพบผู้เอาประกันติดเชื้อโควิด”

“อานนท์” กล่าวอีกว่า อยากขอให้ทางการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับภาวการณ์ในแต่ละช่วงเวลา อาจจะอยู่ในรูปแบบ Rule-based มีผลบังคับใช้อัตโนมัติ

หากเข้าตามเงื่อนไขที่จำเป็นต้องบอกเลิกกรมธรรม์ คือ 1.บริษัทมีอัตราความเสียหายตั้งแต่ 400% ขึ้นไป หรือ 2.มีค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ 4,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือ 3.มีค่าสินไหมทดแทนเกินกว่า 10% ของเงินกองทุน

ซึ่งหากบอกเลิกก็จะมีมาตรการเยียวยาผู้เอาประกันภัย คือ 1.คืนเบี้ย 100% หรือ 2.เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะภาวะโคม่า แต่ได้ทุนประกันภัย 5 เท่าของวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ที่ถูกบอกเลิก

หรือ 3.เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ทุนประกันภัย 10 เท่า หรือ 4.นำเบี้ยที่ได้รับคืน มาซื้อกรมธรรม์อื่น ๆ ของบริษัทที่ใช้สิทธิบอกเลิก โดยมีส่วนลด 2 เท่าของเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืน

“ตอนนี้ธุรกิจประกันเปรียบเสมือนเดินเรือทะเล ระหว่างเดินเรือเกิดเจอพายุ เรือพัง ต้องรีบเข้าท่าก่อนถึงที่หมาย เพื่อซ่อมเรือและหยุดส่งผู้โดยสาร แต่เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่า ต้องส่งผู้โดยสารให้ถึงที่หมายตามสัญญา

โดยให้ออกทะเลไปเดินเรือ ดังนั้นถ้าโชคดีไม่เจอพายุ ก็รอด แต่ถ้าโชคร้ายเจอคลื่น แม้เล็กกว่าเก่าแค่ครึ่งหนึ่ง ก็จะเกิดปัญหาแน่ และยิ่งถ้าเรือจมมีคนตาย ถามว่า กัปตันหรือเจ้าหน้าที่รัฐใครต้องรับผิดชอบ”

ชี้เสี่ยงทั้งระบบหวั่นซ้ำรอยปี’40

“อานนท์” กล่าวว่า ปัจจุบัน 16 บริษัทที่ขายประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบ มีเบี้ยประกันทุกประเภทรวมกันกว่า 120,000 ล้านบาท (ไม่รวมเบี้ยโควิด) คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) กว่า 46% ของเบี้ยรวมทั้งระบบ

และคิดเป็นกว่า 89% ของบริษัทประกันสัญชาติไทยที่กำลังได้รับผลกระทบ ถือได้ว่าเป็นความเสี่ยงเชิงระบบแล้วที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ต้องเข้ามาดูแล เพื่อไม่ให้กระทบผู้ถือกรมธรรม์ประเภทอื่น ๆ อีกกว่า 70 ล้านกรมธรรม์ ที่อาจได้รับผลกระทบหากบริษัทเหล่านี้ต้องปิดกิจการเพิ่มอีกในอนาคต

“หาก คปภ.ยังไม่รีบเข้ามาดูอาจจะเกิด outward risk หรือส่งผลกระทบไปสู่สิทธิของเจ้าหนี้ประเภทอื่น ๆ ของบริษัทประกัน ซึ่งไม่มีสิทธิรับเงินจากกองทุนประกันวินาศภัย เช่น โรงพยาบาล,อู่ซ่อมรถ, สถาบันการเงิน, ตัวแทนนายหน้า, พนักงาน

ดังนั้นบริษัทประกันมีความจำเป็นต้องจำกัดความเสียหายไม่ให้เกิดในวงกว้าง และรักษาเสถียรภาพของระบบไว้ ไม่ให้ซ้ำรอยเหมือนปี 2540 ที่ธุรกิจของคนไทยต้องปิดตัวลงและตกไปอยู่ในมือต่างชาติ”

ทั้งหมดนี้เป็นอีกมุมหนึ่งจากคำอธิบายของนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ที่ออกมาสื่อสารกับสังคม