ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าจากแรงขายทำกำไร-ปอนด์แข็งรับคาดการณ์ BoE ขึ้นดอกเบี้ย

ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 15-19 พฤศจิกายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (15/11) ที่ระดับ 32.66/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (12/11) ที่ระดับ 32.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีกว่าคาด โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State State Index) รายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตพุ่งขึ้นสู่ระดับ 30.9 ในเดือน เม.ย. สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 22.0 จากระดับ 19.8 ในเดือน ต.ค.

โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการดีดตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.64% อีกทั้งดอลลาร์แข็งยังได้แรงหนุนจากตัวเลขค้าปลีกของสหรัฐออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 1.7% ในเดือน ต.ค.เมื่อเทียบรายเดือนสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4% โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น และยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน สะท้อนภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า มีความแน่นอนมากขึ้น

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Bipartisan Infrastructure Framework-BIF) วงเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์แล้วเมื่อวันจันทร์ (15/11) ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของ ปธน.ไบเดนที่สามารถรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งว่า เขาจะสร้างงานจำนวนหลายล้านตำแหน่ง และผลักดันสหรัฐให้สามารถแข่งขันกับจีนได้

โดยก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2564 ขึ้นสู่ระดับ 7% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.6% โดยการปรับเพิ่มคาดการณ์ดังกล่าว เกิดจากสมมติฐานที่ว่า จะมีการบังคับใช้แผนการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากนักลงทุนขายทำกำไรหลังจากดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือน นักลงทุนจับตาการส่งสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังมีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี และยอดค้าปลีกสูงกว่าคาด ขณะที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ เรียกร้องให้เฟดเร่งการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยเร็วที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปีหน้า

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/64 หดตัว 0.3% จากที่ขยายตัว 7.5% ในไตรมาสที่ 2/64 จากผลกระทบวิกฤตโรคโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบต่อทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตของประชาชน ขณะที่เศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 1.3% เทียบกับการหดตัว 6.8% ใน 9 เดือนแรกของปี 2563 โดยภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการขยายตัว 2.3% 3.6%1 และ 0.0% ตามลำดับ

โดยสภาพัฒน์คาดว่า จีดีพีปีนี้จะขยายตัว 1.2% ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 3/64 และเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและการเร่งกระจายวัคซีน ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านต่ำลดลง กนง.มองว่าค่าเงินบาทผันผวนมากขึ้น จากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ไม่แน่นอน โดย กนง.ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และคาดว่าการประชุมเดือน ธ.ค. 64 จะมีการปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามต้นทุนพลังงาน ทั้งนี้ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.54-32.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (19/11) ที่ระดับ 32.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (15/11) ที่ระดับ 1.1457/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (12/11) ที่ระดับ 1.1443/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในส่วนของธนาคารกลางยุโรป (ECB) นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณว่า ECB จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของระดับปัจจุบันในปีหน้า แม้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม ในระหว่างการแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและการเงินของรัฐสภายุโรป

ทั้งนี้ นางลาการ์ตมองว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะกลางยังคงซบเซา อย่างไรก็ดี นางลาการ์ดเห็นด้วยกับการประเมินของ ECB ที่ว่า ปัญหาคอขวดด้านอุปทานและราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นนั้น จะบรรเทาลงในปี 2565 และแรงกดดันช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้อจะเข้าสู่ภาวะสมดุลเป็นวงกว้าง ขณะที่กระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนีรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงต้นปีหน้า รายงานระบุว่า ผลจากการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงชั่วคราวในช่วงกลางปี 2564 ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.อยู่ที่ 4.5%

นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของราคาด้านพลังงานได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน ภาวะชะงักงันในห่วงโซ่อุปทานมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งหมายความว่า กิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มว่าจะยังคงไม่ฟื้นตัวในปีหน้า ส่วนผลผลิตทางเศรษฐกิจของเยอรมนีมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้

ส่วนค่าเงินปอนด์ยังคงได้รับแรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ธ.ค. รวมทั้งจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ทั้งนี้ BoE คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อในอังกฤษจะพุ่งขึ้นเหนือระดับ 4% ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของ BoE ถึง 2 เท่า ขณะที่อังกฤษทำการเปิดเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอุปทานและการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน หลังจากที่รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1271-1.1464 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/11) ที่ระดับ 1.1317/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (15/11) ที่ระดับ 113.80/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับเปิดตลาดในวันศุกร์ (12/11) ที่ระดับ 113.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยระหว่างสัปดาห์

ได้แก่ สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2564 หดตัวลง 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ไตรมาส และหดตัวมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จะหดตัวลงเพียง 0.8% เนื่องจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจญี่ปุ่น หากเทียบเป็นรายไตรมาสตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นหดตัวลง 0.8%

ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จะหดตัวเพียง 0.2% ข้อมูลของสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังระบุด้วยว่า การอุปโภคบริโภคในภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น ปรับตัวลง 1.1% ในไตรมาส 3 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 0.5% ส่วนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจปรับตัวลง 3.8% ในไตรมาส 3 ขณะที่การส่งออกลดลง 2.1%

นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดการณ์ว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนจะไม่ส่งผลกระทบในระดับโลก เนื่องจากจีนไม่ได้ก่อหนี้ในต่างประเทศมากนัก ในวันพุธ (17/11) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานเบื้องต้นว่า ยอดส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นปรับตัวลงต่อเนื่องในเดือน ต.ค.โดยดิ่งลง 36.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี อันเนื่องมาจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกดดันให้ผู้ผลิตยานยนต์ภายในประเทศต้องลดการผลิต แม้ยอดส่งออกรถยนต์เดือน ต.ค.ชะลอตัวลงน้อยกว่าในเดือน ก.ย.ที่ร่วงลง 40.3% แต่ตัวเลขส่งออกก็ปรับลงติดต่อกันเดือนที่สอง

ซึ่งส่งผลให้ยอดการส่งออกสินค้าโดยรวมของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในเดือน ต.ค. อย่างไรก็ดี ค่าเงินเยนยังคงถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลต์สหรัฐจะทำให้ส่วนค่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐกับญี่ปุ่นทิ้งช่วงห่างกันมากขึ้น

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.76-114.94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/11) ที่ระดับ 114.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ