เงินบาทอ่อนค่า หลัง GDP สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (29/11) ที่ระดับ 32.53/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 ที่ระดับ 3.3% สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 3.0% และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.2% นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 12 เขต หรือ “Beige Book” เมื่อวานนี้โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวเล็กน้อยจนถึงปานกลาง ในช่วงเดือน ต.คงจนถึงกลางเดือน พ.ย. ขณะที่เศรษฐกิจในหลาย ๆ เขตมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนแรงกดดันด้านราคานั้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เดือน ต.ค. โดยเขตส่วนใหญ่รายงานว่า ราคาขายสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค. 60 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ในด้านอุปสงค์พบว่า การส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวได้ดีในระดับสูง ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น ส่วนในด้านอุปทานยังคงได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 26 เดือน สศค.ยังคงเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 60 ไว้ที่ 3.8% แต่มองว่ามีโอกาสที่จะโตได้ถึง 4% ต้น ๆ หากภาพรวมปัจจัยที่มีผลทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังต้องติดตามภาพรวมการส่งออกว่ายังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องหรือไม่ ส่วนในภาคการท่องเที่ยวที่แม้จะเติบโตได้ดีในปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซียลดลงบ้าง ซึ่งปกติยอดนักท่องเที่ยวมาเลเซียจะอยู่ในระดับสูง ดังนั้นจึงต้องติดตามในส่วนนี้ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 32.555-32.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.65/32.66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (30/11) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1839/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (28/11) ที่ระดับ 1.1820/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในยูโรโซนปรับตัวขึ้นในเดือน พ.ย.เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 17 ปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในยูโรโซนดีดตัวขึ้นแตะระดับ 114.6 ในเดือน พ.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 114.1 ในเดือน ต.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2543 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ระดับ 100.0 ดัชนีความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมพุ่งแตะระดับ 8.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2533 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวขึ้นแตะระดับ 0.1 ซึ่งมีค่าเป็นบวกครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2544 และเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 17 ปี นอกจากนี้ EC ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.49 ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี จากระดับ 1.44 ในเดือน ต.ค. ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1826-1.1876 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1829/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (30/11) เปิดตลาดที่ระดับ 112.41/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (29/11) ที่ระดับ 111.98/112.01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลง หลังจากที่ตัวเลข GDP สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ ถึงแม้ว่าตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 0.5% จากเดือนที่ผ่านมาก็ตาม โดยได้รับแรงหนุนจากการผลิตเครื่องจักรสำหรับงานหนัก ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 111.89-112.48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 112.45/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงาน (30/11) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (30/11) และราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนตุลาคม (30/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.5/-2.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.5/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ