กอง “FIF” ฮอต แห่ลงทุนรับเศรษฐกิจขาขึ้น

หุ้นเด่น
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้ ทำให้การลงทุนในหลายประเทศน่าสนใจขึ้น กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ทะลุระดับ 1 ล้านล้านบาทไปได้ ตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา

แห่เปิดกอง-เงินไหลเข้าทะลัก

“ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอนิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม term fund) มีเงินไหลเข้ารวม 2.67 แสนล้านบาท NAV อยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากสิ้นปี 2563

โดยกอง FIF เปิดใหม่ (ไม่รวม term fund) ในปีนี้พบว่ามีมากกว่า 260 กองทุน ส่วนใหญ่เป็นกองทุนตราสารทุน (หุ้น) เช่น กลุ่มทั่วโลก (Global Equity) หุ้นเทคโนโลยี (Global Technology) และหุ้นสหรัฐ (US Equity) ซึ่ง 3 กลุ่มนี้รวมกันมีจำนวนถึง 111 กองทุน

“ปีนี้ถือว่ามีกอง FIF (ไม่รวม term fund) เปิดใหม่สูงกว่าปีที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปีที่แล้วทั้งปีมีกองทุนเปิดใหม่ จำนวน 205 กองทุน มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.4 แสนล้านบาท ในขณะที่ 10 เดือนแรกปีนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 2 แสนล้านบาท หรือกล่าวได้ว่าเม็ดเงินไหลเข้าในช่วง 10 เดือนของปีนี้มากกว่าปี 2563 ทั้งปีราว 40%” นางสาวชญานีกล่าว

กองหุ้นพลังงานรีเทิร์นกระฉูด

สำหรับกอง FIF ที่ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี สูงสุดเป็นการลงทุนในหุ้นพลังงาน ได้แก่ กองทุน KTAM World Energy ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย ผลตอบแทนอยู่ที่ 108.1% ส่วนกองที่ให้ผลตอบแทนรอง ๆ ลงมา ได้แก่ กองทุน KWI US Bank Equity FIF A ของ บลจ.คิง ไว (เอเชีย) และกองทุน Principal Vietnam Equity A

จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด ที่ให้ผลตอบแทนเท่ากันอยู่ที่ 77.4% นอกจากนี้กองทุน KWI Emerging Eastern Europe FIF ของ บลจ.คิง ไว (เอเชีย) ผลตอบแทนอยู่ที่ 75.0% และกองทุน Asset Plus Vietnam Growth ของ บลจ.แอสเซท พลัส ผลตอบแทนอยู่ที่ 71.5% (ดูตาราง)

หุ้นเวียดนามกระแสนิยมพุ่ง

“ในบรรดากองที่ผลตอบแทนสูง 5 อันดับแรก กองทุน Principal Vietnam Equity A จาก บลจ.พรินซิเพิล ที่ลงทุนหุ้นเวียดนาม เป็นกองทุนที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงมากในปีนี้ โดยมีเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับ 10 ของกอง FIF มีเงินไหลเข้าสะสม 10 เดือนสูงถึง 4,500 ล้านบาท” นางสาวชญานีกล่าว

ขณะที่ “วศิน วัฒนวรกิจกุล” กรรมการผู้จัดการ กองทุนบัวหลวง และนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กล่าวว่า กอง FIF ในปีนี้มีหลายตลาดที่ค่อนข้างสร้างความเซอร์ไพรส์ให้นักลงทุน เช่น ตลาดหุ้นอินเดียที่เติบโตขึ้นอย่างมาก หรือตลาดหุ้นเวียดนามที่นักลงทุนให้ความสนใจและจับตามองมากขึ้น

จับเทรนด์การลงทุนปีหน้า

สำหรับปีหน้า “วศิน” คาดว่าเทรนด์การลงทุนคงไม่แตกต่างจากปีนี้มากนัก โดยน่าจะยังเป็นเรื่องของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม รวมถึงการลงทุนแบบยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

ส่วนตลาดหุ้นฝั่งเอเชียหรือแม้แต่จีนที่ในปีนี้แม้จะเติบโตไม่ดีนัก แต่ปีหน้าเชื่อว่าจะเริ่มดีขึ้น รวมถึงตลาดหุ้นไทยก็เชื่อว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมากในปีหน้า และยังแนะนำให้มีติดพอร์ตไว้ แต่เน้นสัดส่วนไปที่ต่างประเทศเป็นหลัก

“ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไปยังเป็นเรื่องของเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มองว่าเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว แต่ตลาดมองว่าเงินเฟ้อจะอยู่ต่อไปอีกสักระยะ รวมถึงประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและธนาคารกลางทั่วโลกและสถานการณ์โควิด-19 ในปีหน้าจะมีทิศทางอย่างไร ยังคงเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตาม” นายวศินกล่าว

ฟาก “ชวินดา หาญรัตนกูล” กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) กล่าวว่า ภาพการลงทุนในต่างประเทศปีนี้เป็นแบบ feeling selective หรือการลงทุนตามความรู้สึกของการฟื้นตัวในประเทศต่าง ๆ

เช่น การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐหรือยุโรปที่ปีนี้จะเห็นถึงการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน ส่วนฝั่งเอเชียที่เคยคาดว่าตัวเลขการติดเชื้อจะน้อยลงในปีนี้ ก็ไม่เป็นไปตามคาด แต่ก็จะมีตลาดหุ้นเวียดนามที่ยังเติบโตอยู่ ด้านตลาดญี่ปุ่นก็ถือว่าน่าสนใจ

“ชวินดา” กล่าวอีกว่า ในส่วนตลาดหุ้นจีนที่ปีนี้ผันผวนสูงมาก จากปัจจัยภายในประเทศ อย่างไรก็ตามจีนยังคงเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ที่น่าลงทุนในระยะยาว โดยจากการที่จีนผลักดันเรื่องพลังงานสะอาดและนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ

ทำให้จีนเป็นกลุ่มที่ควรมีติดไว้ในพอร์ต นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเทคโนโลยีที่มาแรงมากจากพฤติกรรมผู้คนที่เปลี่ยนไปตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 และกลุ่มเฮลท์แคร์ ซึ่งเป็นธีมที่สำคัญที่จะเติบโตต่อไปได้

KTAM จัดพอร์ตหุ้นไทย 40%

“ชวินดา” กล่าวว่า สำหรับตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสไปต่อได้ในปีหน้า ซึ่งจะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น โดยพอร์ตการลงทุนปีหน้า จึงแนะนำให้มีหุ้นต่างประเทศ 60% และหุ้นไทย 40% และควรกระจายการลงทุนไม่กระจุกตัว เพื่อลดความเสี่ยง

ด้วยเทรนด์เศรษฐกิจขาขึ้น ปีหน้ากอง FIF ก็น่าจะคึกคัก โดยมีหลายประเทศที่น่าสนใจให้เลือกเข้าไปลงทุนซึ่งผู้ลงทุนคงต้องศึกษารายละเอียดของประเทศนั้น ๆ ก่อนจัดพอร์ตการลงทุนอย่างเหมาะสม