แบงก์รัฐอุ้มลูกหนี้มาราธอน “ออมสิน” แบกภาระ 5 แสนล้าน

แบงก์รัฐต่อเวลาอุ้มลูกหนี้รอบใหม่ “ออมสิน” แบกต่อเกือบ 8 แสนราย เฉียด 5 แสนล้านบาท จัดแพ็กเกจ “ลดดอกเบี้ย-จัดสินเชื่อสร้างอาชีพ” กรณีหนี้เสียรัฐอุดหนุน 30% ด้านเอสเอ็มอีแบงก์อุ้มลูกค้าต่ออีก 2 หมื่นล้าน ธอส.ห่วงกลุ่มหยุดจ่ายมากกว่า 6 เดือนเสี่ยงจ่ายไม่ไหว ธปท.เตรียมออกมาตรการคุมแบงก์รัฐ แจงลูกหนี้อยู่ในวงจรผ่อนชำระ-พักหนี้ 3.97 ล้านบัญชี วงเงิน 1.58 ล้านล้านบาท

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการพักหนี้ของธนาคารออมสินจะทยอยครบกำหนดตั้งแต่สิ้นปีนี้ไปจนถึงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2565 มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการกว่า 798,000 ราย คิดเป็น 931,000 บัญชี วงเงินรวมกว่า 474,000 ล้านบาท ออมสินจะมีมาตรการช่วยให้ปรับตัวและสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ เช่น การผ่อนเกณฑ์การชำระหนี้ด้วยการลดดอกเบี้ย

และในระยะยาวจะเข้าไปช่วยลูกหนี้ที่ตกงานให้มีอาชีพ ผ่านสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท ให้กู้ได้ตั้งแต่ 10,000-300,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี โดยรัฐบาลจะสนับสนุน กรณีเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 30% ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ

EXIM BANK ลูกหนี้ชำระไม่ไหว

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักหนี้ของธนาคาร ซึ่งจะสิ้นสุดสิ้นปี 2564 มีอยู่ 2,167 ราย ธนาคารได้ช่วยเหลือผ่านการดำเนินการในรูปแบบ health check หรือตรวจสุขภาพ พบว่า กลุ่มลูกหนี้ประมาณ 75% กลับมาชำระหนี้ได้และกลับมาดำเนินธุรกิจได้เช่นเดิมแล้ว กลุ่มลูกหนี้ประมาณ 20% มีแนวโน้มที่จะกลับมามีความสามารถในการชำระหนี้ได้ โดยความช่วยเหลือของธนาคารในการขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ และการเติมทุนผ่านผลิตภัณฑ์ของธนาคาร

“กลุ่มสุดท้ายที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเวลานี้ มีประมาณ 5% ธนาคารได้ช่วยเหลือและแนะนำให้ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายเวลาผ่อนชำระได้นานขึ้น และผ่อนชำระในจำนวนที่ลดลง ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เช่นเดิม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ NPL สิ้นปี 2564 อยู่ที่ระดับ 3.5% จากสิ้นเดือน ก.ย. 2564 อยู่ที่ระดับ 3.71%” นายรักษ์กล่าว

ธพว.คาดหนี้ 2 หมื่นล้านอุ้มต่อ

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการพักหนี้กับธนาคาร 1 แสนล้านบาท มีลูกค้ากว่า 4.3 หมื่นล้านบาท ที่ได้รับการผ่อนปรนในระยะสั้น เพื่อให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ หากจบมาตรการพักหนี้ในสิ้นปี 2564 แล้ว คาดว่าจะมีลูกค้าจากกลุ่มที่ได้รับการผ่อนปรน ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จะได้รับการผ่อนปรนต่อไป และส่วนที่เหลือน่าจะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามสัญญา

สำหรับกลุ่มที่จะได้รับการผ่อนปรนต่อนั้นอาจจะเข้าข่ายมาตรการของ ธปท. ซึ่งขณะนี้ ธปท.กำลังเตรียมมาตรการต่อเนื่องที่จะออกมาในปี 2565 โดยจะให้สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐ เข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้า เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยให้น้อยลง ลดดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ หรืออาจจะมีบางส่วนที่ลดเงินต้น ส่วนกรณีที่มีหลักทรัพย์ก็ให้โอนหลักทรัพย์บางส่วนมาใช้หนี้

“ทุกแบงก์ก็พยายามปรับหนี้ให้ยั่งยืนอยู่แล้ว แต่เมื่อมีจำนวนเข้ามามาก ๆ จึงต้องจัดการปัญหาระยะสั้นก่อน เช่น พักหนี้ให้ก่อน และจ่ายน้อยลง 1 ปี ซึ่งก็จะมีวันหมดเวลา อย่างสมมติหมดเวลาสิ้นปีนี้ ก็ต้องมาปรับโครงสร้างหนี้ต่อ แต่รอบนี้ ธปท.จะทำให้ปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว จะดูว่าหนี้ที่จะชำระได้ต้องใช้ระยะเวลากี่ปี เช่น 5-7 ปีนี้ จะคิดระยะเวลาการจ่ายหนี้ให้ยาวไปเลย ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถไปรอด” นางสาวนารถนารีกล่าว

ธอส.ชี้ หนี้บ้าน 9 หมื่นล้าน

ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ขณะนี้มีลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักหนี้ของ ธอส. รวมกว่า 1.9 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.ลูกหนี้ที่ขอแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยเชื่อว่ากลุ่มนี้จะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ เมื่อมาตรการพักหนี้สิ้นสุดในปี 2564 เนื่องจากขณะนี้ก็ได้มีการชำระหนี้ตามเงื่อนไขของมาตรการอยู่แล้ว

ลูกหนี้กลุ่มที่ 2 อีก 9 หมื่นล้านบาท เป็นกลุ่มที่หยุดจ่ายหนี้มานานกว่า 6 เดือน ซึ่งหากสิ้นสุดมาตรการพักหนี้สิ้นปีนี้ ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าจะกลับมาชำระหนี้ได้หรือไม่ แต่ยอมรับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสีย

“ธนาคารยังรอดูความชัดเจนจากมาตรการของ ธปท. ที่จะเข้ามาดูแลหลังจากจบมาตรการพักหนี้ ซึ่งหากมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว ก็พร้อมที่จะดำเนินการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ต่อไป” นายฉัตรชัยกล่าว

นายฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า มาตรการรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงินที่ ธปท.ออกมานั้น ธอส.มีกรอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยกำหนดให้ปล่อยสินเชื่อได้เฉพาะที่อยู่อาศัย ฉะนั้น ธอส.จะนำหนี้รายย่อยประเภทอื่นเข้ามาหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่ได้ อย่างไรก็ดี สถาบันอื่นสามารถนำหนี้จาก ธอส.ไปรวมได้ แต่ ธอส.ไม่สามารถนำหนี้ของสถาบันอื่นมารวมได้ โดย ธอส.จะเป็นผู้ส่งหนี้ออกไป ไม่ได้เป็นผู้รับหนี้เข้ามา

รวมสัญญาตั้งการ์ดรีไฟแนนซ์

ด้านนายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.มีมาตรการดูแลลูกค้าเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เช่น การรวมสัญญา ทบทวนภาระหนี้ จัดตารางการชำระคืนหนี้ หรือที่เรียกว่าการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุที่ทำส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการของรัฐ เกษตรกรประสบปัญหาเศรษฐกิจและอุทกภัย

“ธ.ก.ส.รวมสัญญารวมหนี้ให้กับลูกค้าที่เป็นหนี้จากสินเชื่อต่าง ๆ ของแบงก์ ทั้งหนี้ระยะสั้น หนี้เพื่อการลงทุน และอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยไม่ใช่รายใหญ่ จากนั้นก็จะดูขีดความสามารถในการชำระ เพื่อประเมินศักยภาพการชำระหนี้ จากรายได้และรายจ่ายเกษตรกร จากนั้นจะมาจัดตารางการชำระใหม่ ซึ่งเรียกว่าการรวมสัญญา ส่วนการรับรีไฟแนนซ์ เช่น โครงการสินเชื่อสีเขียว เอสเอ็มอีเสริมแกร่ง พิจารณาจากศักยภาพของลูกค้าเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งบอร์ด ธ.ก.ส.ได้กำชับธนาคารให้ระวังในการรีไฟแนนซ์” นายสมเกียรติกล่าว

ธปท.ออกมาตรการคลุมแบงก์รัฐ

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.ออกมาตรการช่วยลูกหนี้มาตลอด โดยมาตรการที่ทำมา ในส่วนของการแก้ไขหนี้เดิม ก็ได้ปรับโหมดจากการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ด้วยการพักชำระ 1-2 เดือน เป็นมาตรการระยะยาว ที่ออกมาตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2564 โดยให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) ดำเนินการไปแล้ว โดยในเร็ว ๆ นี้จะมีในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ออกมาด้วย จะเน้นปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ และมองสถานการณ์ไปข้างหน้า

“มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวจะมีความยืดหยุ่น หากมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงก็สามารถเข้ามาปรับโครงสร้างใหม่ได้ตลอด ซึ่งจะมองยาวไปถึงสิ้นปี 2566 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า” นางสาวสุวรรณีกล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า มาตรการแก้หนี้ระยะยาวของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) จะมีเริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2565 ส่วนมาตรการที่จะออกมานั้นมีส่วนที่ต่างกับธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) เล็กน้อย เพื่อให้เข้ากับบริบทของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

สำหรับความคืบหน้ามาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในส่วนธนาคารรัฐ ตัวเลขล่าสุด ณ 30 กันยายน 2564 ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลืออยู่ที่ 3.97 ล้านบัญชี เม็ดเงิน 1.58 ล้านล้านบาท