หอการค้า แนะรัฐเร่งเสริมสภาพคล่อง SME ก่อนจ่อปิดกิจการหลังโควิด

เงินบาท

หอการค้าไทย แนะรัฐเร่งเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หลังจ่อปิดกิจการจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ขาดสภาพคล่อง รายได้ไม่เข้า

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจ “สถานภาพธุรกิจไทย หลังโควิด-19 ปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไข” ของสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 625 ราย ระหว่างวันที่ 12-17 พฤศจิกายน 2564 พบว่า สถานการณ์ยอดขายเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ยอดขายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลดลง 65.2% โดยประเภทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ การค้า 75.8% รองลงมาคือ ภาคบริการ 67.1%

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น 60.7% ซึ่งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยังเป็นกลุ่มการค้า และกลุ่มบริการ ส่งผลให้กำไรลดลงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20.6% ทั้งนี้ การสั่งซื้อสินค้าก็ไม่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นอย่างมาก และเมื่อกำไรลดลง ต้นทุนเพิ่มขึ้น คำสั่งซื้อไม่เข้ามา ส่งผลต่อการจ้างงานของผู้ประกอบการจะเห็นว่าแนวโน้มการว่างงานเพิ่มขึ้น และจากการสำรวจผู้ประกอบการจากปัจจัยต่าง ๆ กว่า 40.1% มีโอกาสที่ผู้ประกอบการจะปิดธุรกิจสูงมาก โดยกลุ่มธุรกิจการค้าและการบริการ เป็นกลุ่มที่เสี่ยงปิดสูง

“จากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังมองว่าธุรกิจจะกลับมาปกตินั้น คือ ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2565 เพราะแม้จะมีมาตรการออกมา ความพร้อมของเอสเอ็มอียังน้อย โดยเฉพาะเรื่องของสภาพคล่อง ต้นทุนวัตถุดิบยังสูง คู่แข่ง ราคาสินค้าที่ขายยังต่ำ ดังนั้น สิ่งที่ต้องการให้รัฐช่วย สำคัญคือการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ การลดหย่อนภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เป็นต้น”

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมีความเสี่ยงที่จะปิดกิจการ หากยังขาดสภาพคล่องทางการเงิน และยังคงต้องการวงเงินเข้ามาช่วยเหลือกิจการ โดยวงเงินสินเชื่อเสริมสภาพคล่องที่ต้องการเฉลี่ยอยู่ที่ 654,924 บาท และคาดว่าธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติภายในไตรมาสที่ 4/65 แต่ปัญหาของผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึง คือ การไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน งบการเงินไม่ดี มีประวัติ ไม่รู้จะติดต่อธนาคารอย่างไร ดังนั้น จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล และมีมาตรการช่วยเหลือเพราะเห็นว่ามาตรการที่รัฐออกมานั้นยังน้อย

“เอสเอ็มอียังมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้ คือ ไตรมาส 2 ของปี 2565 ปัญหาของสภาพคล่องทางธุรกิจยังเป็นปัญหาหลัก ดังนั้น เอสเอ็มอีจึงต้องการให้รัฐเข้ามาดูแล ส่วนปีหน้ามองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 1.01-2% เท่านั้น”

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ภาครัฐควรเข้ามาดูแลปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs เป็นเรื่องเร่งด่วน คาดว่าจะใช้เม็ดเงินราว 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจัดเตรียมงบประมาณในส่วนนี้ไว้แล้วประมาณ 4 แสนล้านบาท แต่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารถเข้าถึงได้หากเกิดผลกระทบจนส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME ที่มีอยู่มีโอกาสปิดกิจการสูงขึ้น เพราะหากเอสเอ็มอีปิดกิจการลง 5% จะส่งผลให้รายได้ของประเทศสูญหายไปราว 3 แสนล้านบาท และมีคนตกงานเพิ่มอีก 1-2 ล้านคน แต่ทั้งนี้ หอการค้ายังมองว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัว และการว่างงานลดลง

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเชื่อว่าภาครัฐจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่อยากเสนอแนะให้กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงข้อมูลบางอย่างให้ประชาชนรู้เพื่อสร้างความมั่นใจ เช่น ผู้ติดเชื้อในขณะนี้มีอาการรุนแรงหรือไม่, มีมาตรการป้องกันสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในต่างประเทศหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศมากขึ้นจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ

ส่วนจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 5 หรือไม่นั้น อาจจะมีแต่ก็ยังไม่ชัด เพราะต้องขึ้นอยู่กับมาตรการของการเปิดประเทศ การป้องกันการแพร่ระบาด การติดเชื้อมีความรุนแรงหรือไม่ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามและภาครัฐจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้ ส่วนเรื่องของการเปิดกิจการกลางคืน ซึ่งคิดเป็น 20% ของจีดีพีประเทศ หากเปิดก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ แต่ทั้งนี้ ต้องมีมาตรการป้องกันที่ดีเพื่อลดการแพร่เชื้อ หรือหามาตรการขึ้นมาเพื่อใช้ในการเปิดกิจการกลางคืนด้วย