ตลาดคาดเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยเร็ว หลังพาวเวลล์นั่งปธ.เฟดต่ออีกสมัย

ตลาดคาดว่าเฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังพาวเวลล์ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นสมัยที่ 2

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ที่ (22/11) ที่ระดับ 32.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/11) ที่ระดับ 32.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากค่าเงินดอลลากลับมาเป็นที่ต้องการในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในยุโรป

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด หลังมีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี โดยนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ เรียกร้องให้เฟดเร่งการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยโดยเร็วที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปีหน้า

โดยทาง FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ พบว่านักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ว่าเฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2565 จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนกรกฎาคม 2565

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุน หลังจากที่ในวันจันทร์ (23/11) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจเสนอชื่อนายเจอโรม พาวเวลล์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นสมัยที่ 2 อย่างเป็นทางการ

โดยนายพาวเวลล์ จะต้องผ่านการรับรองจากวุฒิสภาสหรัฐเป็นลำดับต่อไป หากนายเจอโรม พาวเวลล์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีกสมัย จะทำให้มีความต่อเนื่องทางด้านนโยบายการเงิน และมีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้

ขณะที่มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ อาจเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยในอังคาร (23/11) ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 59.1 ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 58.4 ในเดือนตุลาคม ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการของสหรัฐ ลดลงสู่ระดับ 57.0 ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 58.9 ในเดือนตุลาคม

โดยดัชนี PMI ได้รับผลกระบจากการชะลอตัวของภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตยังคงแข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวขึ้น และในวันพุธ (24/11) มีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2564 ของสหรัฐ ได้ขยายตัว 2.1% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งแรกที่ระดับ 2.0%

ส่วนตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง 71,000 ราย สู่ระดับ 199,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2512 สำหรับดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 5.0% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2533

ทั้งนี้ตลาดเงินและตลาดหุ้นสหรัฐ ปิดทำการในวันพฤหัสบดี (25/11) เนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) และตลาดหุ้นจะปิดทำการซื้อขายเพียงครึ่งวันในวันศุกร์ (26/11) ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง หลังจากตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 ที่ค้นพบในแอฟริกาใต้ ซึ่งอาจทำให้วัคซีนในปัจจุบันไม่สามารถรับมือได้เพียงพอ ส่งผลให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในวันจันทร์ (22/11)กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขการส่งออกในเดือนตุลาคม ขยายตัว 17.4% ที่มูลค่า 22,738 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าขยายตัว 34.6% ที่มูลค่า 23,108 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การเตรียมเปิดประเทศในหลายประเทศ และค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า ช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาให้กับสินค้า

โดยทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ก่อนไปแตะระดับสูงสุดในวันศุกร์ที่ 33.63/65 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.82-33.65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (5/11) ที่ระดับ 33.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (22/11) ที่ระดับ 1.1285/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/11) ที่ระดับ 1.1300/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ท่ามกลางความกังวลการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยนายเยนส์ สปาห์น รัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมนี กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเยอรมนีมีความรุนแรงมาก ทำให้รัฐบาลอาจจะต้องนำมาตรการต่าง ๆ มาบังคับใช้ ไม่เว้นแม้แต่มาตรการล็อกดาวน์

ซึ่งล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายวันในเยอรมนีพุ่งขึ้นมากกว่า 50,000 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศมากกว่า 5.2 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมเกือบ 100,000 ราย โดยในวันอังคาร (23/11) หลายประเทศในยุโรป เช่น ออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์ ได้ประกาศกลับไปดำเนินมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งแล้ว หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนีเปิดเผยว่า จำเป็นต้องดำเนินมาตรการจำกัดที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันหลังจากในวันจันทร์ (22/11) ธนาคารกลางเยอรมนีที่เปิดเผยรายงาน ซึ่งระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มชะลอตัวลงในฤดูกาลใบไม้ร่วงนี้ เนื่องจากปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานยังคงส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ในวันพฤหัสบดี (25/11) Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี ได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน สู่ระดับ 96.5 ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 97.7 ในเดือนตุลาคม และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 96.6

โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากภาวะคอขวดการผลิตและการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน รวมทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจของเยอรมนีมีความเชื่อมั่นลดลงต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1205-1.1292 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (26.11) ที่ระดับ 1.1256/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (22/11) ที่ระดับ 114.08/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/11) ที่ระดับ 114.02/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ความแตกต่างในนโยบายการเงิน และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่น กดดันค่าเงินเยนอย่างต่อเนื่อง

โดยในวันพุธ (24/11) ญี่ปุ่นมีการเปิดเผย ดัชนี PMI ภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 54.2 ในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ระดับ 53.2 ส่วนดัชนี PMI ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 52.1 ในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ระดับ 50.7 โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังขยายตัวจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงอย่างมากในช่วงนี้ ก่อนที่ค่าเงินเยนจะไปแตะระดับอ่อนสุดในรอบ 5 ปี ที่ 115.38/40 ในวันพฤหัสบดี (25/11) ก่อนค่าเงินเยนจะกลับมาแข็งค่าในวันศุกร์ (26/11) เนื่องจากตลาดมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกาส่งผลให้นักลงทุนแห่เข้าซื้อสกุลเงินปลอดภัย

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.93-115.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/11) ที่ระดับ 114.17/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ