เปิด 5 ข้อเสนอผู้มีรายได้น้อย ธ.ก.ส.ชูโมเดล “จ้างผลิต” ช่วยคนจนหนี้ล้น

คลังเปิดผลสำรวจผู้มีบัตรคนจน ก่อนลุยช่วยคนจนเฟส 2 พบ 5 อันดับแรกต้องการให้รัฐช่วย “ค่าสาธารณูปโภค ค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ลดค่ารักษาพยาบาล เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา ลดค่าอุปกรณ์การศึกษาบุตรหลาน” ขณะที่ “สมคิด” ลุยเศรษฐกิจชุมชนแก้จนฟาก ธ.ก.ส.ชูโมเดล “จ้างผลิต” ช่วยคนหนี้ล้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ร่วมกันทำโครงการสำรวจข้อมูลผู้มีรายได้น้อย โดยใช้ข้อมูลจากผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐไว้ทั้งสิ้น 14.16 ล้านคนซึ่งได้จ้างนักศึกษาลงพื้นที่สำรวจเมื่อช่วง 20 ก.ค.-18 ส.ค. และได้รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อเร็ว ๆ นี้

โดยผลสรุปของโครงการสามารถสำรวจข้อมูลผู้มีรายได้น้อย 94.8% หรือ 13.43 ล้านคน เนื่องจากสิ้นสุดโครงการก่อน และ มีข้อมูลสามารถนำมาประมวลผลได้ 10.64 ล้านคน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลสำรวจพบว่าผู้มีรายได้น้อย ต้องการให้รัฐช่วย 5 อันดับแรก คือ 1) ลดค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า 82.1% 2) ลดภาระค่าสินค้าอุปโภคบริโภค 66.4% 3) ลดภาระค่ารักษาพยาบาล 47.2% 4) เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 39.5% และ 5) ลดภาระค่าอุปกรณ์การศึกษาของลูกหลาน 30.7%

ด้านภาระค่าใช้จ่ายพบว่า ผู้มีรายได้น้อย 82.7% มีภาระค่าใช้จ่ายภายในบ้าน แต่ว่าส่วนใหญ่ 34.1% มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า 3,001 บาทต่อเดือน ส่วนการเป็นหนี้นอกระบบพบว่า 85.9% ตอบว่าไม่มีหนี้นอกระบบ จะมีเพียง 13.7% ที่ระบุว่ามีหนี้นอกระบบ ซึ่งในจำนวนนี้ (10.6%) กู้เงินมากกว่า 10,000 บาท

ส่วนความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่ 68.3% มีที่อยู่อาศัยของตัวเองที่ไม่ต้องผ่อนชำระ ส่วน 25.9% อาศัยอยู่กับบิดา มารดา ญาติพี่น้อง อีก 1.9% มีที่อยู่ที่ต้องผ่อนชำระ และ 2.4% เช่าบ้านอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่มีค่าเช่าบ้านต่ำกว่า 3,001 บาทต่อเดือน

ในส่วนอาชีพและการทำงานหลักพบว่า ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ 31.7% ประกอบอาชีพเกษตรกร อีก 28.2% เป็นลูกจ้างและรับจ้างทั่วไป และมี 1.5% ที่เป็นข้าราชการบำนาญ พนักงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ ช่วยธุรกิจครัวเรือน ส่วนผู้ที่อยู่บ้านเฉย ๆ มีอยู่ 21.6% และว่างงาน 9.7% ขณะที่นักเรียนนักศึกษามี 2.7%

“ครม.ได้อนุมัติให้ใช้วงเงินงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ปีงบประมาณ 2560 จำนวน 921.17 ล้านบาทดำเนินการสำรวจ ซึ่งเบิกจ่ายไป 767.64 ล้านบาท เหลือส่งคืนสำนักงบประมาณ 153.53 ล้านบาท”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ข้อมูลจากการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 พบว่า กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 5.1 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ภาครัฐมีแผนจะเข้าไปฝึกอาชีพ พัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจนพ้นจากเส้นความยากจน โดยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษในกลุ่มที่ต้องการเงินทุน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้คุยกับ รมว.คลังว่า หลังจากนี้จะใช้ธนาคารของรัฐสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งปี 2561 จะโฟกัสไปที่เศรษฐกิจชุมชนอย่างเต็มที่

อภิรมย์ สุขประเสริฐ

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.เตรียมแนวทางช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เฟส 2 เสนอให้นายสมคิดพิจารณา ซึ่งนอกจากการแก้หนี้แล้ว อาจนำโมเดล “จ้างผลิต” มาใช้ในกลุ่มผู้ที่ไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้


โดยให้เกษตรกรรุ่นใหม่เช่าที่ดินจากเกษตรกรที่อายุมาก ทำการผลิตไม่ไหว แถมเป็นหนี้มาก มาทำการผลิตแทน โดยปลูกพืชที่ตรงความต้องการตลาด และเชื่อมโยงกับกลุ่มโมเดิร์นเทรด