ธปท.เปิด 2 กระแส ดิจิทัล-กรีน ห่วงรายเล็กปรับตัวช้า ซ้ำเติมเหลื่อมล้ำ

ผู้ว่าแบงก์ชาติห่วงสองเทรนด์สร้างความเหลื่อมล้ำ

ธปท.เผยอนาคตเศรษฐกิจไทยเผชิญ 2 กระแสสำคัญ “Digital-Green” ห่วงรายเล็กปรับตัวช้ากว่ารายใหญ่ ยิ่งซ้ำเติมความเหลื่มล้ำ ระบุ ดิจิทัลช่วยหนุนเอสเอ็มอี-ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างรายได้เพิ่ม หลังมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มค้าขายรายใหม่ 9 ล้านคน หรือ 70% อยู่ในเมืองรอง หนุนแก้ปัญหาโตกระจุกตัว

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “The Future of Thai Economy and Finance” ว่า อนาคตเศรษฐกิจการเงินถ้ามองไปข้างหน้า มีอย่างน้อย 2 กระแสที่จะมาแน่นอน คือ Digital และ Green ซึ่งทั้งสองกระแสนี้ มีศักยภาพที่จะเพิ่ม inclusion ได้ แต่ก็มีโอกาสที่อาจจะซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน โดยหากวาดภาพ 2 Alternative Futures ให้เห็นว่ามีโอกาสที่จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง

ภาพแรก อาจเป็นอนาคตที่ดูมืดมน ที่ทั้งกระแส Digital และ Green มาซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น เพราะรายใหญ่มักคว้าโอกาสและปรับตัวได้เร็วกว่า จึงต่อยอดการเติบโตและยิ่งทิ้งห่างรายเล็กไปไกลกว่าเดิม

ในมุม Digital คนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี มักเป็นคนที่ได้แต้มต่ออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนทักษะสูง ที่สามารถเรียนรู้ใช้เทคโนโลยีใหม่ได้ง่ายกว่าคนที่ทักษะต่ำ หรือบริษัทรายใหญ่ไม่กี่รายที่ dominate ประโยชน์จากเทคโนโลยี เช่น บริษัท Big Tech อย่าง Google Apple Facebook Amazon ที่สามารถสร้าง network และใช้ประโยชน์จาก platform ของตนเองที่มีข้อมูลปริมาณมหาศาล และใช้ประโยชน์จาก digital platform ในรูปแบบโลกไร้พรมแดนเข้ามาแข่งขันเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดในที่ต่าง ๆ

ซึ่งทั้งสองอย่างนี้รายเล็กมักทำได้ยาก เพราะการพัฒนา online platform ต่าง ๆ ต้องยอมขาดทุนในช่วงแรก เพื่อแลกกับการได้ส่วนแบ่งตลาด และข้อมูลของลูกค้าให้ได้มากเพียงพอ และมีความจำเป็นที่ต้องมีคนที่มีทักษะเพียงพอ มีคนจำนวนมากพอ และมีระบบข้อมูลที่พร้อม ทำให้มีไม่กี่ประเทศหรือไม่กี่บริษัทที่ทำได้สำเร็จ

และเป็นอีกรูปแบบของความเหลื่อมล้ำจากเทคโนโลยี Digital ที่จะซ้ำเติม SMEs หรือผู้เล่นรายเล็กให้ปรับตัวได้ลำบาก นำไปสู่โอกาสที่จะมีการผูกขาดในระยะยาว หรือ winner takes all และรายใหญ่จะทิ้งห่างรายเล็กไปมากกว่าเดิม

ในส่วนของกระแส Green ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเริ่มปรับตัวรับกระแสนี้ไปแล้ว และสามารถยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในระดับสากลได้ เห็นได้จาก 13 บริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิกของดัชนี DJSI หรือ Dow Jones Sustainability Index ซึ่งมีจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

ขณะที่รายเล็ก กลุ่มแรก คือ SMEs มีเงินทุนไม่สูงมาก สายป่านสั้น และยังต้องปรับตัวให้ผ่านวิกฤตโควิดก่อน จึงอาจยากที่จะปรับตัวต่อกระแส Green และจากกรณีที่สหภาพยุโรปออก European Green Deal และบังคับใช้ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ซึ่งคล้ายการเก็บภาษีตามปริมาณ carbon footprint ของสินค้าต่าง ๆ ซึ่งบริษัทใหญ่น่าจะสามารถปรับตัวได้ดีกว่า ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างรายใหญ่และรายเล็กห่างกันมากกว่าเดิม

กลุ่มที่สอง คือ แรงงาน มีโอกาสที่เกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานไทยจะถูกกระทบไม่มากก็น้อยจากกระแส climate change โดยกลุ่มเกษตรกร ที่เป็น 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด จะถูกกระทบโดยตรง เพราะรายได้จากผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่มี buffer ทางการเงินต่ำ ยิ่งไปกว่านั้น ทรัพย์สินของเกษตรกรส่วนมากเป็นที่ดินทำเกษตร ซึ่งหากเกิดภัยพิบัติ มูลค่าอาจลดลงเร็ว ซ้ำเติมรายได้ที่น้อยอยู่แล้วของเกษตรกรได้

นอกจากนี้ แรงงานในภาคท่องเที่ยว ที่คิดเป็น 20% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ก็จะถูกกระทบจากกระแส Green เช่นกัน โดยต้นทุนการเดินทางจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสายการบิน long haul ที่มี carbon footprint สูง หรือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปี อาจทำให้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งหน้าตาเปลี่ยนไปและไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเหมือนเดิม ซึ่งเมื่อรวมกับแรงงานในภาคเกษตร กว่าครึ่งของกำลังแรงงานทั้งหมดอาจมีรายได้ที่ถูกกระทบและลดลงจากกระแส Green

“แต่ในอีกภาพอนาคต ทั้งกระแส Digital และ Green ก็เป็นโอกาสที่จะสร้าง inclusive growth ได้มากขึ้นกว่าเดิม”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า ในมุม Digital เทคโนโลยี Digital จะช่วย SMEs และประชาชนได้อย่างน้อย 3 ด้าน

(1) เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ให้รายเล็ก ด้วยการเข้าสู่ digital platform เห็นได้จากการเข้าสู่ e-commerce platform ของ SMEs ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดที่ทำให้ธุรกิจขยายฐานลูกค้าไปยังจังหวัดใหม่ ๆ นอกภูมิภาค และเพิ่มยอดขายได้ ซึ่งผู้ขายที่เข้ามาใช้ e-commerce พบว่า 80% มีรายได้เพิ่มขึ้น และหลังโควิด การใช้งาน digital platform ยังเร่งตัวขึ้นอีก

โดยไทยมีจำนวนผู้ใช้งานบน platform รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านคน โดยเกือบ 70% ของผู้ใช้รายใหม่อยู่ในเมืองรอง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเติบโตแบบกระจุกในบางพื้นที่ที่พูดถึงในช่วงแรก

(2) เมื่อประชาชนและธุรกิจเข้าสู่โลก Digital การซื้อขายของหรือจ่ายเงินระหว่างกัน จะทำให้เกิด digital footprint เป็นข้อมูลมหาศาล ที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้ ตัวอย่างเช่น การที่ SMEs และประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น จากการที่ผู้ปล่อยกู้สามารถประเมินความเสี่ยงได้ดีขึ้นด้วยการใช้ alternative data โดยเฉพาะรายย่อยและ SMEs ที่ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีหลักประกัน หรือไม่มีข้อมูลกับสถาบันการเงินมาก่อน

ดังนั้น ข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในภาคการเงิน และการแชร์ข้อมูลเชื่อมต่อด้วย open data จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ภาคการเงินสามารถกระจายเม็ดเงินในระบบดีขึ้น ให้ไปถึงคนที่ต้องการเงินทุน แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้มาก่อน

(3) เทคโนโลยี Digital ในภาคการเงิน ยังทำให้มีผู้เล่นใหม่ ๆ ซึ่งจะสร้างการแข่งขัน กระตุ้นภาคการเงินให้มีพัฒนาการและสนับสนุนประชาชนและธุรกิจได้หลากหลายกลุ่ม และตอบโจทย์ผู้บริโภครายเล็ก ๆ และทำให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของไทย inclusive มากขึ้น

นอกจากนี้ กระแส Green จะเป็นโอกาสทางธุรกิจให้รายเล็กได้เกิดใหม่ และคนในพื้นที่ห่างไกลได้ประโยชน์มากขึ้น

“ที่เห็นได้ชัด คือ การเกษตรสมัยใหม่ เช่น เกษตรอินทรีย์ ที่ลดการใช้สารเคมีหรือใช้พลังงานหมุนเวียน จะสามารถขยายตลาดไปยังผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถตั้งราคาที่สูงกว่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยด้วย”

นอกจากนี้ ในภาคท่องเที่ยว ที่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจะได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่ง SMEs โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นและเมืองรองจะสามารถได้รับประโยชน์จาก trend นี้ผ่านการปรับโมเดลของธุรกิจเพื่อขายจุดแข็งทั้งวัฒนธรรมท้องถิ่นและแหล่งท่องเที่ยวแบบ unseen เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ

และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดการกระจุกตัวของรายได้เชิงพื้นที่ และยังเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากปัญหา over-tourism ในบางจังหวัดที่เดิมเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศ