โรงงานยาสูบขอ “เชตซีโร่” แก้ลำบุหรี่นอกดัมพ์ราคา

โรงงานยาสูบร่อนหนังสือวอนคลัง-สรรพสามิต “เซตซีโร่” ภาษีบุหรี่ จี้ถอยกลับไปใช้โครงสร้างภาษีแบบเดิมก่อน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต 2560 มีผลบังคับใช้ หวั่นผลกระทบลามหนักกระทั่งปีงบประมาณ 2561 ไม่มีเงินนำส่งเข้ารัฐ แถมกระทบชิ่งทำแผนย้ายโรงงานสะดุด

นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการยาสูบ โรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า ทางโรงงานยาสูบได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง และกรมสรรพสามิต เพื่อให้เร่งแก้ปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษียาสูบ ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยเสนอให้กลับไปใช้โครงสร้างอัตราภาษีเดิมก่อนที่กฎหมายนี้จะบังคับใช้ก่อน และจะต้องมีมาตรการป้องกันทางด้านราคา (ดัมพ์ราคา) เมื่อจะใช้โครงสร้างภาษีใหม่ด้วย

ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์

“ตอนนี้เซ็นหนังสือไปแล้ว ส่งไปทั้งกระทรวงการคลัง และกรมสรรพสามิต เพื่อให้เร่งแก้ปัญหา โดยเซตซีโร่กลับไปใช้โครงสร้างภาษีเดิมก่อน อย่างน้อยอยากให้แก้เรื่องภาษี ส่วนเรื่องอื่น ๆ สามารถบริหารจัดการได้” นางสาวดาวน้อยกล่าว

ทั้งนี้ หลังจากใช้โครงสร้างอัตราภาษียาสูบใหม่แค่เพียงระยะเวลา 1 เดือน ได้ส่งผลกระทบต่อโรงงานยาสูบอย่างมาก โดยพบว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของโรงงานยาสูบลดลงเหลือ 65.92% จากปีงบประมาณ 2560 ที่อยู่ที่เกือบ 80% ขณะที่บุหรี่ต่างประเทศมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มเป็น 32.53% แล้ว

นางสาวดาวน้อยกล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น โรงงานยาสูบประเมินว่าจะทำให้ในปีงบประมาณ 2561 นี้ โรงงานยาสูบอาจประสบภาวะขาดทุนประมาณ 1,575 ล้านบาท จนไม่มีเงินนำส่งรัฐ จากปกติที่ต้องนำส่ง 88% ของกำไรสุทธิทุกปี อย่างเช่น ในปีงบประมาณ 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 9,344.37 ล้านบาท ก็ต้องนำส่งรายได้ 8,816.56 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยังคงเป็นไปเช่นเดิม จะทำให้โรงงานยาสูบขาดทุนอย่างต่อเนื่อง กระทั่งต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการในที่สุด รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อการย้ายโรงงานไปอยู่ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ตามแผนเดิม เนื่องจากพนักงานขาดความมั่นใจในองค์กร เนื่องจากรายได้มีแนวโน้มลดลง และเกิดการต่อต้าน ซึ่งหากไม่สามารถย้ายโรงงานได้ตามแผน จะยิ่งทำให้โรงงานยาสูบได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงขณะเดียวกันโรงงานยาสูบยังมองว่า วัตถุประสงค์ที่ภาครัฐปรับภาษีบุหรี่ ย่อมต้องการรายได้เข้ารัฐมากขึ้น รวมถึงลดการบริโภคลง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นประเมินว่ารัฐจะรายได้ลดลง จากการที่บุหรี่ต่างประเทศมีการดัมพ์ราคาลงมาเสียภาษีอัตราต่ำที่ 20% แทนที่จะเสียที่ 40%

นางสาวดาวน้อยกล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น หากยิ่งปล่อยไว้จะยิ่งส่งผลกระทบต่อรัฐ เพราะโรงงานยาสูบเป็นกิจการของรัฐ 100% ซึ่งการจะให้ปรับกลยุทธ์ไปแข่งกับบุหรี่ต่างประเทศที่มีการดัมพ์ราคาลงมาแข่ง ทำได้ยาก เพราะมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันในเรื่องแบรนด์สินค้า ดังนั้นจึงอยากให้กลับไปเริ่มต้นใหม่ หรือกลับไปใช้อัตราภาษีตามโครงสร้างเดิมชั่วคราวก่อน

“ถามว่าจะให้ปรับกลยุทธ์อย่างไร คือถ้าไม่มีการขายอยู่เดิม เป็นแบรนด์เกิดใหม่ เป็นอุตสาหกรรมใหม่ หรือเป็นกลุ่มสินค้าใกล้เคียงกัน ไม่ใช่รุ่นใหญ่กับรุ่นเล็ก กฎหมายออกมาแบบนี้ก็โอเค แต่นี่เหมือนมวยรุ่นใหญ่กับรุ่นเล็ก” นางสาวดาวน้อยกล่าว

ทั้งนี้ ตามเอกสาร “ปกแดง” ที่โรงงานยาสูบเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนพบว่า มีข้อเรียกร้องต่อกรมสรรพสามิตหลายข้อ อาทิ การขอให้ตรวจสอบและกำหนด “ราคาขายปลีกแนะนำ” ในส่วนของต้นทุนการผลิตของบุหรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด

ขณะเดียวกันยังเสนอให้มีมาตรการตรวจสอบ และควบคุมราคาขายปลีกแนะนำให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และไม่ให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายบุหรี่ต่างประเทศ ทำการลดราคาบุหรี่ลงจากราคาเดิมที่เคยจำหน่ายก่อน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ รวมทั้งป้องกันการทุ่มตลาด พร้อมเรียกร้องให้กรมสรรพสามิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการที่เข้มงวดด้านการปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ โรงงานยาสูบยังขอให้รัฐอนุญาตให้โรงงานยาสูบดำเนินธุรกิจที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมยาสูบได้ เพื่อให้องค์กรอยู่รอด รวมถึงข้อเสนอให้ยกเลิกให้โรงงานยาสูบต้องเสียภาษีเงินได้แทนผู้ประกอบการค้า หรือตรากฎหมายให้บริษัทบุหรี่ต่างประเทศเสียภาษีเงินได้แทนผู้ประกอบการค้า