เงินบาทแข็งค่า หลังตลาดคลายกังวลโควิดโอไมครอน

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/11) ที่ระดับ 33.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (20/11) ที่ระดับ 33.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากตลาดหุ้นเริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน เนื่องจากอยู่ระหว่างรอข้อมูลเพิ่มเติม ส่งผลให้วันนี้นักลงทุนกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง แต่ก็มีจำนวนไม่มากเท่ากับจำนวนที่ขายไปเมื่อคืนวันศุกร์ (26/11) ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไบเดนได้ออกมาแถลงในคืน (29/11) ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลสหรัฐไม่มีนโยบายที่จะประกาศล็อกดาวน์เศรษฐกิจ อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน “ถ้าประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน และสวมหน้ากากอนามัย ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องล็อกดาวน์ และจะไม่มีการประกาศห้ามการเดินทางครั้งใหม่ ไม่ช้าก็เร็ว เราจะเห็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนในสหรัฐ ดังนั้น กรุณาสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในอาคาร หรืออยู่ในที่สาธารณะ ซึ่งมีผู้คนจำนวนมาก ปธน.ไบเดนกล่าว ตลาดจึงจับตาดูข้อมูลทางการแพทย์ของไวรัสตัวใหม่และประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่เป็นส่วนใหญ่

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตรัฐเท็กซัสปรับตัวลงสู่ระหว่าง 11.8 จุดในเดือน พ.ย.ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 18.5 จากระดับ 14.6 ในเดือนตุลาคม อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงมีค่าเป็นบวก ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในเท็กซัส โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในตลาด แม้เผชิญปัญหาคอขวดด้านอุปทาน และปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ผลสำรวจระบุว่า ภาคการผลิตยังคงมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มธุรกิจในอนาคต นอกจากนี้ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) รายงานว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) พุ่งขึ้น 7.5% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายเดือน ในขณะเดียวกัน นักลงทุนกำลังจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐซึ่งจะมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้ (1/12) ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.61-33.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.69/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/11) ที่ระดับ 1.1292/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (28/11) ที่ระดับ 1.1274/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เนื่องจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเริ่มลดน้อยลง โดยในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1283-1.1367 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1364/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/11) ที่ระดับ 113.73/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (29/11) ที่ระดับ 113.32/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากตลาดคลายความกังวลโควิดสายพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมปรับตัวขึ้น 1.1% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.8% ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก นอกจากนี้ การขยายตัวที่ต่ำกว่าคาดของการผลิตญี่ปุ่นยังสะท้อนให้เห็นว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะยังคงอยู่อีกเป็นเวลานาน เนื่องจากความเสี่ยงต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ เช่น ปัญหาด้านอุปทาน ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.67-113.89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.82/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือน ก.ย.จากเอสแอนด์พี/เคส-ซิลเลอร์, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.จาก Conference Board, ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน พ.ย.จาก ADR, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน พ.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือน พ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างเดือน ต.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ย., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน พ.ย.จากมาร์กิต, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ต.ค. และดัชนีภาคบริการเดือน พ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.9/+1.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ -0.05/0.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ