SAM แย้มคุยแบงก์ตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารหนี้ คาด Q4 มีหนี้เทขาย 2 หมื่นล้าน

บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือ SAM เผยไตรมาส 1/65 เตรียมผ่อนคลายเกณฑ์ธนาคารร่วมทุน AMC หวังช่วยบริหารหนี้ในระบบดีขึ้น เชื่อเป็นโอกาสต่อยอดธุรกิจ ระบุเจรจาแบงก์หลายราย พร้อมประเมินไตรมาสสุดท้ายธนาคารเทขายหนี้เสีย 2 หมื่นล้านบาท คาดทั้งปีรับซื้อได้ 5-6 พันล้านบาท เดินหน้าลุยโครงการคลินิกแก้หนี้ต่อเนื่อง หลังช่วยลูกหนี้แล้วกว่า 5 พันล้านบาท

วันที่ 1 ธันวาคม 2564 นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า ภายในไตรมาส 1 ปี 2565 คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินและบริษัท บริหารสินทรัพย์ หรือ AMC ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน หรือ Joint Venture เพื่อรับโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้สามารถบริหารหนี้ได้ดีขึ้น

โดยจะเห็นว่าสถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มมีการพูดคุยในการขยายความร่วมมือกับ AMC มากขึ้น เช่น ธนาคารกสิกรไทย หรือธนาคารไทยพาณิชย์ เริ่มมองหาพันธมิตร ซึ่งในอนาคตจะเห็นโมเดลการบริหารจัดการหนี้ในรูปแบบอื่นได้ และจะทำในส่วนที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น บริหารจัดการหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ จะเริ่มจากธุรกิจที่มีหลักประกัน และขยายไปสู่ไม่มีหลักประกัน

ทั้งนี้ ในส่วนของ SAM อยู่ระหว่างพูดคุยกับสถาบันการเงินหลายรายในการทำโมเดลธุรกิจร่วมทุนเช่นกัน โดยเบื้องต้นมองว่า การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ถือเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจผ่าน 2 ทางเลือก คือ การขยายความร่วมมือกับธนาคารในการบริหารหนี้เสีย และโอกาสที่ธนาคารตัดขายหนี้ออกมาสู่ระบบ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการบริหารหนี้ เพราะยังมองว่าทิศทางเอ็นพีแอลยังคงมีต่อเนื่อง

“หากตามที่สมาคมธนาคารไทยมีการพูดคุยว่ากฎระเบียบเรื่องความร่วมมือของ AMC และแบงก์น่าจะชัดเจนในไตรมาสแรกปีหน้า จะช่วยลดช่องว่างระหว่างแบงก์และ AMC และแบงก์เองก็ open มากขึ้น เราก็มีความพร้อมที่จะเข้าไปทำในรูปแบบร่วมทุน ซึ่งแบงก์เองอาจจะตัดขายหนี้ให้บริษัทร่วมทุนส่วนหนึ่ง และเทขายออกมาสู่ระบบปกติอีกส่วนหนึ่ง จึงเป็นโอกาสของธุรกิจค่อนข้างมาก”

นายธรัฐพรกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการเทขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในไตรมาส 4 ของปีนี้ คาดว่าจะมีธนาคารตัดขายหนี้ออกมาจำนวน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบปีนี้ และคาดว่าแนวโน้มการแข่งขันน่าจะรุนแรงขึ้น เพราะเป็นช่วงสุดท้ายของปี

อย่างไรก็ดี ทิศทางการตัดเทขายหนี้ภาพรวมในปีนี้ ถือว่าออกมาค่อนข้างน้อยกว่าที่ประเมินไว้เมื่อช่วงต้นปีที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 9 หมื่นล้านบาท แต่ตัดขายออกมาเพียง 6 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการช่วยเหลือของธนาคารและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้การไหลของเอ็นพีแอลไม่ได้เพิ่มขึ้นสูง โดยในไตรมาส 3 หนี้เอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.14% โดยคาดว่าทั้งปี SAM น่าจะสามารถรับซื้อหนี้มาบริหารได้ราว 5,000-6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากประเมินภาพรวมหนี้เอ็นพีแอล คาดว่าภายหลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือของธนาคาร คาดว่าทิศทางเอ็นพีแอลน่าจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขสินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ (SM) ที่มีสูงถึง 5-6 แสนล้านบาท จะไหลมาเป็นหนี้เอ็นพีแอลมากน้อยระดับใด และสามารถกลับไปเป็นหนี้ที่ดีได้แค่ไหน โดยคาดการณ์ว่าเอ็นพีแอลในปี’65 น่าจะมากกว่าระดับ 6 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และน่าจะกลับไปสู่ระดับ 1 แสนล้านบาทได้ภายในปี’66 โดย SAM ตั้งเป้าเข้าไปรับซื้อหนี้ประมาณ 10% ของหนี้ที่ตัดขายทั้งระบบ

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการรองรับการซื้อหนี้เสียมาบริหารจัดการในปี’65 บริษัทมีแผนการออกหุ้นกู้วงเงิน 5,000 ล้านบาท อันดับเครดิต AA+ โดยคาดว่าจะสามารถออกได้ภายในไตรมาส 2/65 รวมถึงยังมีวงเงินคงเหลือที่เปิดไว้กับสถาบันการเงินอีกจำนวนหลายพันล้านบาท ดังนั้น ศักยภาพในการรองรับการรับซื้อหนี้ยังมีอีกมากและเพียงพอ

“เรายังมีศักยภาพในการรับซื้อได้พอสมควร เราจะมีการออกหุ้นกู้วงเงิน 5,000 ล้านบาท และมีเงินกองทุนสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปีหน้าเรายังคงตั้งเป้ารับซื้อหนี้เป็นอันดับที่ 1 และ 2 แม้ว่าปีนี้เราคาดว่าหนี้จะออกมาขายเยอะ เป้าหมายเราเลยตั้งไว้สูง แต่ออกมาจริงก็ไม่เยอะมาก แต่เรายังคงรับซื้อและประมูลต่อเนื่อง”

สำหรับผลการดำเนินงาน ณ เดือนตุลาคม 2564 บริษัทสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าเอ็นพีแอลแล้วจำนวน 54,899 ราย คิดเป็นมูลค่าตามบัญชี 341,448 ล้านบาท และจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ได้ทั้งสิ้น 10,496 รายการ ราคาประเมินทรัพย์ 51,914 ล้านบาท ขณะที่การประมูลซื้อสินทรัพย์เพื่อเพิ่มขนาดพอร์ตบริษัทสามารถรับซื้อได้ 16,569 ราย มูลค่าตามบัญชี 113,621 ล้านบาท


ส่วนคลินิกแก้หนี้มีจำนวนลูกค้าที่ผ่านคุณสมบัติและสมัครเข้าโครงการได้รวมทั้งสิ้น 68,071 บัญชี คิดเป็นภาระหนี้เงินต้นตามสัญญา 5,163 ล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการในปี’43 บริษัทสามารถนำเงินส่งคืนเงินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ไปแล้วจำนวนประมาณ 2.55 แสนล้านบาท