โอไมครอน-เงินเฟ้อสหรัฐ กดดันบาทอ่อนค่าทะลุ 34 บาทต่อเหรียญ

เงินเฟ้อ
ภาพจาก pixabay

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า 33.60-34.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เกาะติดการระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน-ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ” กดดันภาคการท่องเที่ยวไทย นักลงทุนแห่ปิดสถานะรับความเสี่ยง เทขายบอนด์-หุ้นต่อเนื่อง

วันที่ 5 ธันวาคม 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 6-10 ธันวาคม 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.60-34.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ในต่างประเทศและในประเทศรวมถึงข่าวการศึกษาวิจัยเรื่องวัคซีนที่มีอยู่ที่จะนำมาทดลองกับสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์ใหม่นี้

นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ต้องติดตามและมีผลกับตลาด จะเป็นตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ หากมีการเร่งตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปแตะระดับ 7% จากเดือน ต.ค.64 ที่อยู่ 6.2% ซึ่งตลาดอาจจะตื่นตระหนก ทำให้เงินบาทมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปและจีนด้วย

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ตลาดหุ้นขายสุทธิ 11,430 ล้านบาท ส่วนตลาดพันธบัตร (บอนด์) ขายสุทธิอยู่ที่ 2,185 ล้านบาท ซึ่งภาพบอนด์อาจจะมีแรงเทขายน้อยเนื่องจากไทยมีประมูลบอนด์ตัวยาวอายุ 10 ปี อย่างไรก็ดี หากดูบอนด์ระยะสั้นในช่วง 5 วันที่ผ่านมามีแรงเทขายสูงถึง 21,530 ล้านบาท

“เรามองว่ากรอบเงินบาททะลุ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐยาก เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะเข้ามาช่วยพยุงด้วย รวมถึงแรงเทขายบอนด์สั้นสัปดาห์หน้าน่าจะลดลง เพราะก่อนหน้านี้ทยอยขายออกไปหมดแล้วรวมๆ แล้วเกือบ 4 หมื่นล้านบาท โดยในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเดิมขายเฉลี่ย 1.6 หมื่นล้านบาท ทยอยขายเหลือวันละ 1,000 ล้านบาท โดยมองว่านักลงทุนรอดูสถานการ์โอไมครอน และถ้าเงินบาทไปอยู่ระดับ 33.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือลงมาอยู่ 33.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐน่าจะเข้ามาอีกครั้ง”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 33.70-34.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยมองเงินบาทเผชิญแรงกดดันรอบด้าน นำโดยแนวทางการคุมเข้มนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีความเป็นไปได้สูงขึ้นว่าจะเร่งจบมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE ) ในไตรมาส 1/65 ต่อด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

นอกจากนี้ ในระยะ 1-2 สัปดาห์ตลาดจะรอข้อมูลเชิงการแพทย์เกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์โอไมครอนและประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ ซึ่งทำให้การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวของไทยมีความไม่แน่นอนมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังต้องติดตามดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) เดือน พ.ย. ของสหรัฐ ที่จะมีการประกาศในช่วงท้ายสัปดาห์หน้า คาดว่าจะสูงมากถึง +6.7% ต่อปี โดยจะเป็นข้อมูลชุดสุดท้ายก่อนเข้าสู่การประชุมเฟดในวันที่ 14-15 ธ.ค. ซึ่งล่าสุดประธานเฟดเปลี่ยนโทนชัดเจน ว่าจะพิจารณาถอนมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจในอัตราเร่ง

“ฟันด์โฟลว์อาจเริ่มบางตาลง ต่างประเทศอาจทยอยปิดสถานะก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาล อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงมีความเสี่ยงทะลุ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงเยอะรอบด้าน”