กรุงศรี จับตา “โอไมครอน-เงินเฟ้อ” ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ

วิจัยกรุงศรี ชี้ไวรัสโอไมครอนสร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ระบุเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบางท่ามกลางเงินเฟ้อที่อาจเร่งขึ้นแตะ 3% ต้นปีหน้าชั่วคราว คาด กนง. คงดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง

วันที่ 8 ธันวาคม 2564 วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัว ปัจจัยหนุนจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่บรรเทาลง การฉีดวัคซีนมีมากขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุม ประกอบกับผลเชิงบวกจากการเปิดประเทศ ล่าสุด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพฤศจิกายนรวมทั้งสิ้น 133,061 คน เร่งขึ้นจากเดือนตุลาคม 20,272 คน

นอกจากนี้ ความต่อเนื่องของมาตรการรัฐยังช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศช่วงปลายปี
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น หลังจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอนเกิดขึ้นในประเทศทางแอฟริกา

และเริ่มตรวจพบในหลายประเทศมากขึ้นรวมถึงไทยด้วย ขณะที่ปัจจุบันยังต้องติดตามรายละเอียดที่ชัดเจนถึงความรุนแรงของสายพันธุ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงสร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวในระยะข้างหน้าได้

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 2.71% YOY จาก 2.38% เดือนตุลาคม สาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ (+37.2%) ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

และการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหาร โดยเฉพาะผักสด (+12.7%) ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจากช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการปรับขึ้นของราคาเครื่องประกอบอาหาร (+6.2%) เนื่องจากความต้องการและต้นทุนขนส่งที่ปรับเพิ่ม

ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.29% เพิ่มขึ้นจาก 0.21% เดือนตุลาคม สำหรับในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.15% และ 0.23% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี แม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะเร่งขึ้นในช่วงปลายปีนี้และมีแนวโน้มอาจแตะระดับสูงใกล้ 3% ในช่วงไตรมาส 1/2565 เนื่องจากผลของฐานที่ต่ำและการส่งผ่านของต้นทุน แต่คาดว่าจะชะลอลงและกลับมาแตะระดับใกล้ขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการที่ 1% ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงเอื้อให้ กนง.ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางและเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ