ค่าเงินบาทแข็งค่า หลังตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น

เงินบาท

ค่าเงินบาทแข็งค่า หลังตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนกำลังติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน หลังสาธารณสุขแถลงยืนยันพบผู้ติดเชื้อในไทยอีก 2 ราย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 8 ธันวาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/12) ที่ระดับ 33.56/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/12) ที่ระดับ 33.73/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก

โดยนักลงทุนเทขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังคลายความวิตกเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่มีผู้เชี่ยวชาญเริ่มออกบทวิเคราะห์ว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ไม่มีอาการที่รุนแรงและยังไม่มีผู้เสียชีวิต

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐเมื่อคืนนี้ (7/12) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐลดลง 17.6% สู่ระดับ 6.71 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.68 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐได้มีการเปิดเผยว่า ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐร่วงลง 5.2% ในไตรมาส 3 หลังจากขยายตัว 2.4% ในไตรมาส 2 โดยประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานเป็นการวัดผลผลิตรายชั่วโมงต่อแรงงาน 1 คน นอกจากนี้ตลาดจับเงินเฟ้อสหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น นักลงทุนกำลังติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ในประเทศไทย หลังจากเมื่อจันทร์ (6/12) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แถลงยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนรายแรกในไทย

นอกจากนี้ในวันนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนอีก 2 ราย โดยผู้ป่วยมีผลตรวจเป็นบวกในวันที่ 24 พ.ย. ซึ่งปัจจุบันได้รับการดูแลจนหายจนไม่พบเชื้อแล้ว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.47-33.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.47/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลดเช้าวันนี้ (8/12) ที่ระดับ 1.1272/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/12) ที่ระดับ 1.1256/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังจากคลายความวิตกเกี่ยวกับไวรัสโอไมครอน

ทั้งนี้เมื่อคืนนี้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีร่วงลงสู่ระดับ 29.9 ในเดือน ธ.ค. จากระดับ 31.7 ในเดือน พ.ย. แต่ยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 25.1 โดยการร่วงลงของดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภาวะคอขวดด้านอุปทาน

นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและในช่วง 6 เดือนข้างหน้าต่างปรับตัวลงในเดือน ธ.ค. โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1240-1.1289 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1283/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/12) ที่ระดับ 113.50/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/12) ที่ระดับ 113.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐและรัสเซียในประเด็นยูเครน

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจในเช้าวันนี้ (8/12) สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลง 3.6% ในไตรมาส 3/2564 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งย่ำแย่กว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่า GDP หดตัวลง 3% เนื่องจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.34-113.63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.58/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรับที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน ต.ค., อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ธ.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.50/-0.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.00/0.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ