กรุงศรีฯผุด QR Merchant ต้นปี’61 เจาะร้านค้า

กรุงศรีฯเตรียมแจ้งเกิด “QR merchant” ต้นปี’61 ซึ่งเป็นระบบคัดแยกธุรกรรมการเงิน จากโอนเงิน-ชำระเงินของพร้อมเพย์ ออกมาให้เห็นชัดเจน เอื้อต่อร้านค้านำไปใช้ขอสินเชื่อกับแบงก์ในอนาคต

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ล่าสุดธนาคารกำลังพัฒนาระบบ QR merchant แบบสำเร็จรูปหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “QR tag 30” ซึ่งเป็นระบบที่เหมาะกับผู้ใช้งานที่เป็นร้านค้า เนื่องจากระบบนี้ทำขึ้นมาเพื่อแยกการทำธุรกรรมการโอนเงิน และการชำระเงินที่ผ่านพร้อมเพย์ออกมาให้เห็นชัดเจนขึ้น เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์ปัจจุบัน ไม่ได้มีการแยกที่มาของ “เงิน” ว่ามาจากการชำระเงินในการซื้อสินค้า หรือมาจากเงินโอน ทำให้ในแง่ทางบัญชียังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

ซึ่งประโยชน์ของ QR merchant หลัก ๆ คือเอื้อต่อร้านค้า ในการนำข้อมูลทางการเงินดังกล่าวไปในการขอสินเชื่อจากธนาคารในอนาคต ทำให้ง่ายต่อการพิจารณาของแบงก์ เนื่องจากฐานข้อมูลทางการเงินชัดเจน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 3 เดือนนี้ หรือภายในต้นปี 2561 น่าจะนำออกให้ร้านค้าใช้งานได้

“ระบบนี้ทำขึ้นมาเพื่อเอื้อร้านค้า โดยร้านค้าสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาเจรจากับแบงก์ในการที่จะขอกู้เงินได้ และถือเป็นการช่วยให้ร้านค้าต่าง ๆ เข้าถึงระบบเงินกู้ง่ายมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต โดย QR merchant จะเหมาะกับกลุ่มร้านค้าขนาดใหญ่ ขนาดกลางที่มีสาขา และร้านค้าเดี่ยว” นายฐากรกล่าว

นายฐากรกล่าวอีกว่า คาดว่าภายในไตรมาสแรกปีหน้า น่าจะเห็นธนาคารนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (robo advisory) นำมาใช้กับระบบธนาคาร คือ 1.จะพัฒนาให้เป็นเครื่องมือสำหรับเจ้าหน้าที่อาร์เอ็มของธนาคารในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจลูกค้าเพื่อให้สามารถแนะนำลูกค้าได้ถูกต้องเหมาะสม 2.พัฒนาให้ลูกค้าสามารถดูพอร์ตลงทุนของตัวเองและจำลองพอร์ตลงทุนได้เลย

ขณะที่การขอนำเทคโนโลยี “block chain” มาเปิดให้บริการด้านโอนเงินระหว่างประเทศ (international money transfer) ให้กับภาคธุรกิจที่ทำธุรกิจหรือค้าขายกับต่างประเทศ (B-to-B) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 1 ราย ได้แก่ IRPC คาดว่าในอนาคตจะขยายเพิ่มอีก 4-5 ราย ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจนำเข้าและส่งออกเช่นเดียวกัน และในอนาคตจะขยายเป็นแบบ (C-to-C) ต่อไป นอกจากนี้ในต้นปีหน้าน่าจะเห็นธนาคารนำแพลตฟอร์มการให้บริการปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิทัล (digital lending platform) โดยจะเริ่มใช้กับลูกค้าสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ที่ปัจจุบันมีฐานลูกค้าเก่าอยู่ราว 7 ล้านบัญชี