กสิกรไทย เผยผลสำรวจครัวเรือน ต้องการให้รัฐเยียวยาเพิ่ม

กังวลค่าครองชีพพุ่ง! กสิกรไทย เผยผลสำรวจครัวเรือนต้องการให้รัฐ “เยียวยา” เพิ่ม จับตาโอไมครอนปัจจัยเสี่ยง

กสิกรไทย เผยดัชนี KR-ECI ปรับลดลงต่อจากความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ชี้ผลสำรวจพบครัวเรือนส่วนใหญ่ยังต้องการมาตรการ “เยียวยาค่าครองชีพ” เพิ่มเติม เปิดประเทศหนุนมุมมองเกี่ยวกับ “รายได้-จ้างงาน” ดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเรื่องไวรัส “โอไมครอน”

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ธนาคารกสิกรไทย รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับลดลงเล็กน้อย โดยดัชนี KR-ECI ในเดือน พ.ย.2564 อยู่ที่ 34.7 จาก 34.9 ในเดือนต.ค.2564 เนื่องจากครัวเรือนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน แต่ปัจจัยเรื่องการเปิดประเทศ (1 พ.ย. 2564 ) และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดส่งผลให้ครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงาน

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับความต้องการของครัวเรือนในการบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพสูงขึ้น ที่อาจต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 ผลสำรวจระบุว่าครัวเรือน 56.0% ต้องการมาตรการเยียวยาค่า

ครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากภาครัฐ เช่น การลดค่าน้ำค่าไฟในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่อีก 19.0% ระบุว่าต้องหารายได้เพิ่มอย่างน้อยที่สุดประมาณ 30% จากระดับรายได้เฉลี่ยปี 2564 บ่งชี้ ว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้กดดันกำลังซื้อของภาคครัวเรือนต่อเนื่อง โดยการหารายได้เพิ่มขึ้น อาจทำได้ค่อนข้างจำกัดสำหรับแรงงานบางกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เต็มที่

ดังนั้น ในปี 2565 แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย มีการเปิดประเทศต่อเนื่อง อัตราการได้รับวัคซีนครอบคลุม แต่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนอาจยังไม่ฟื้นกลับมาได้เต็มที่ อีกทั้งหากมีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (Omicron) เป็นวงกว้างจนกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อเนื่อง

ในระยะข้างหน้าสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น จะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคครัวเรือนต่อเนื่อง ขณะที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่อาจจะเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมต่อรายได้และการจ้างงาน ซึ่งปัจจุบันยังคงต้องรอติดตามข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติของโรค เช่นความรุนแรงของอาการ และประสิทธิผลของวัคซีนที่ชัดเจนอีกครั้ง ดังนั้น มาตรการกระตุ้นและเยียวเศรษฐกิจจากภาครัฐ ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม รวมถึง Booster dose จึงยังคงมีความจำเป็น