โพลล์เผย “ช้อปช่วยชาติ” ส่งผลคนไทยซื้อสินค้า-บริการเกินความจำเป็น

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษี” สำรวจระหว่างวันที่ 25 ถึง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,182 คน

ปัญหาเศรษฐกิจถือเป็นปัญหาที่รัฐบาลในทุกยุคทุกสมัยต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับการพัฒนาประเทศ รวมถึงกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของประชาชน ดังนั้น รัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัยจึงได้กำหนดนโยบายและวิธีการดำเนินการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งวิธีการหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ คือ การกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศของประชาชนโดยมีการลดหย่อนภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการใช้จ่าย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ รัฐบาลปัจจุบันจึงได้ดำเนินโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษี โดยการให้สิทธิ์ประชาชนที่ซื้อสินค้าและบริการตามที่ระบุไว้ภายในเวลาที่กำหนดสามารถนำค่าใช้จ่ายไปขอหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และในปี พ.ศ. 2560 นี้ได้ดำเนินการโครงการระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม

โครงการดังกล่าวได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งแสดงความกังวลว่าโครงการดังกล่าวอาจเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนซื้อสินค้าและบริการฟุ่มเฟือยมากขึ้นได้ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษี

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้อยู่ในฐานที่ต้องชำระภาษีเงินได้ประจำปีซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.76 และเพศชายร้อยละ 49.24 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษีนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 91.37 ทราบว่าโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560 นี้แล้ว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.63 ไม่ทราบ

สำหรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการเพื่อเข้าร่วมโครงการช็อปช่วยชาติที่ผ่านมานั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 45.6 ระบุว่าตนเองเคยซื้อสินค้าและบริการเพื่อใช้สิทธิ์ขอลดหย่อนภาษีตามโครงการช้อปช่วยชาติเฉพาะเมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา รองลงมาระบุว่าเคยซื้อสินค้าและบริการเพื่อขอใช้สิทธิ์ทั้ง 2 ปีก่อนหน้าซึ่งคิดเป็นร้อยละ 27.92 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.01 ระบุว่าตนเองเคยซื้อสินค้าและบริการเพื่อขอใช้สิทธิ์เฉพาะเมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.47 ยอมรับว่าตนเองไม่เคยใช้สิทธิ์ทั้ง 2 ปีก่อนหน้าเลย

ในด้านความคิดเห็นต่อช่วงเวลาในการจัดโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษี กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 31.47 มีความคิดเห็นว่าควรมีการจัดโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษีในช่วงเดือนธันวาคม รองลงมาระบุว่าควรมีการจัดในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่คิดเป็นร้อยละ 25.24 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.84 และร้อยละ 13.28 ระบุว่าควรจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงก่อนกำหนดชำระภาษีเงินได้และในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.46 มีความคิดเห็นว่าควรจัดในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม โดยที่กลุ่มตัวอย่างที่เหลือระบุว่าจัดในช่วงใดก็ได้คิดเป็นร้อยละ 4.91

ด้านความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษี กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.84 เห็นด้วยที่จะมีการจัดโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษีเป็นประจำทุกปีเลย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.49 มีความคิดเห็นว่าการดำเนินโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษีจะมีส่วนช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าและบริการของผู้ประกอบการเอกชนให้สูงขึ้นได้

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.24 มีความคิดเห็นว่าโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษีจะมีส่วนทำให้ประชาชนซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงที่ไม่มีโครงการ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.32 มีความคิดเห็นว่าโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษีจะมีส่วนช่วยกระตุ้นสภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้จริง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.08 มีความคิดเห็นว่าโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษีจะส่งผลทำให้ประชาชนมีรายจ่ายประจำเดือนสูงขึ้นกว่าในช่วงปกติที่ไม่มีโครงการ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.81 มีความคิดเห็นว่าโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษีจะมีส่วนทำให้ประชาชนซื้อสินค้าและบริการฟุ่มเฟือยมากขึ้น และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.61 มีความคิดเห็นว่าโครงการช้อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษีจะส่งผลให้ประชาชนมีภาระหนี้สินจากการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้นได้

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.06 และร้อยละ 52.28 มีความคิดเห็นว่าโครงการช็อปช่วยชาติเพื่อการลดหย่อนภาษีจะไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีของสถานประกอบการเอกชนต่างๆ ได้และจะไม่ส่งผลให้มีการลักลอบซื้อขายสิทธิ์ใบกำกับภาษีของประชาชนเพิ่มมากขึ้นได้ตามลำดับ