ราคาน้ำมันดิบปรับลงจากแรงขายทำกำไร-ความกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาด

– ราคาน้ำมันดิบปรับลดราวร้อยละ 0.8 จากความกังวลของนักลงทุนต่อภาวะน้ำมันดิบล้นตลาด หลังข้อมูลเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกว่าร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ระดับ 9.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับมีแรงขายทำกำไรหลังราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับขึ้นไปยืนเหนือ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในระหว่างชั่วโมงการซื้อขาย

+ ตลาดยังคงจับตามองการประชุมโอเปก ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ในวันจันทร์ที่ 24 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ว่าซาอุดิอาระเบียจะพิจารณาปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบให้ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือไม่ โดยการปรับลดการส่งออกดังกล่าวจะเป็นการทดแทนในส่วนของกำลังการผลิตจากลิเบียและไนจีเรียที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังเหตุการณ์ความไม่สงบของทั้งสองประเทศคลี่คลายลง ซึ่งจะส่งผลในทิศทางบวกต่อราคาน้ำมันดิบได้

+/- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เผยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 4.7 ล้านบาร์เรลมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดเพียง 3.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 490 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังยังคงอยู่เหนือระดับเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ในขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรับฯ ปรับลง 4.4 ล้านบาร์เรล ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 มาอยู่ที่ 231 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับอุปทานที่เข้าสู่ตลาดมีปริมาณลดลง ส่งผลให้ส่วนต่างราคาระหว่างน้ำมันเบนซินและน้ำมันดิบอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์ของประเทศศรีลังกาที่ปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าอุปสงค์ของประเทศอินเดียจะเริ่มอ่อนตัวลงเนื่องจากโรงกลั่นที่ปิดซ่อมบำรุงไปใกล้เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตแล้วก็ตาม

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ทิศทางการเพิ่มขึ้นเริ่มชะลอตัวลงหลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากความกังวลปัญหาอุปทานล้นตลาด โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพียง 94 แท่นในไตรมาส 2 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่เพิ่มขึ้นกว่า 137 แท่น

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและลิเบียมีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นต่อเนื่อง โดยไนจีเรียคาดจะกลับมาสามารถส่งออกน้ำมันดิบที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. นี้ ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 17 เดือน ในขณะที่ลิเบียปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้

ติดตามการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 24 ก.ค. ว่าจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือกำหนดเพดานการผลิตของลิเบียหรือไนจีเรีย เพื่อช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบเพิ่มเติมหรือไม่