ท้องถิ่นออกโรงจี้มหาดไทย แก้กฎใช้เงิน 3 แสนล้าน ฟื้นเศรษฐกิจ

ท้องถิ่นจี้ มท.ปลดล็อกใช้เงินสะสม 3 แสนล้าน แก้ระเบียบเบิกจ่ายหนุนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ฟื้นเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบาย “สมคิด” ชี้ระเบียบขณะนี้ไม่เปิดช่อง-แถมคุมเข้ม ขุนคลังสั่งกรมบัญชีกลางถก อปท.แก้ปมจัดซื้อจัดจ้าง เผยสำนักงบประมาณพร้อมหนุนงบฯแมตชิ่งโครงการท้องถิ่น

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การนำเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยกันเงิน 1.5 แสนล้านบาท จากเงินสะสมกว่า 3 แสนล้านบาท โดยท้องถิ่นต้องจัดทำโครงการขึ้นตามกรอบที่รัฐบาลกำหนดไว้

“เขากันเงินไว้ส่วนหนึ่งใช้พัฒนาท้องถิ่น ทำให้เกิดการจ้างงาน 1.5 แสนล้านบาทก่อน สำนักงบประมาณจะรับไปดู”

นายวิสุทธิ์กล่าวว่า การทำโครงการในลอตแรกตั้งเป้าจะเร่งให้เสร็จภายใน 4 เดือน ซึ่งในส่วนกระทรวงการคลังจะดูแลเรื่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจาก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่เพิ่งบังคับใช้ ครอบคลุมถึงการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท.ด้วย อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อจัดจ้างที่วงเงินไม่สูงนัก จะหารือทำข้อตกลงกับกรมบัญชีกลาง เพื่อพิจารณาผ่อนปรนให้

กรมบัญชีกลางพร้อมผ่อนกฎให้

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีเพียงประเด็นที่ท้องถิ่นกังวลว่า พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ จะทำให้ติดขัดหรือไม่ ซึ่งกรมบัญชีกลางได้รับนโยบายจาก รมว.คลัง ให้หารือกับทาง อปท.ก่อน หากพบว่ามีข้อติดขัดจะผ่อนปรนให้

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาค รัฐ ซึ่งจะมีการประชุมครั้งต่อไปในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้ น่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับข้อติดขัดของ อปท. จากนั้นจะเร่งแก้ไขปัญหาข้อติดขัดโดยเร็วที่สุด

จี้มหาดไทยปลดล็อก

ขณะที่แหล่งข่าวจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เปิดเผยว่า หากรัฐบาลต้องการให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ของนายสมคิดจาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ อปท.ทั่วประเทศ อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล ฯลฯ โดยใช้เงินสะสมของ อปท.มาจัดทำโครงการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนทั้งระยะสั้น ระยะยาวให้ได้ผล ปลุกเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม จำเป็นต้องแก้ไขหลักเกณฑ์เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินสะสมของกระทรวงมหาดไทย ให้ท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายเงินสำหรับใช้พัฒนาโครงการภายใต้กรอบที่กำหนดไว้ ได้คล่องตัวมากขึ้น

เพราะที่ผ่านมาแม้รัฐเปิดให้นำเงินสะสมมาพัฒนา โครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการหรือกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท. โครงการบริการชุมชนสังคม กิจการที่เพิ่มพูนรายได้ บำบัดความเดือดร้อน โครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย

แจงระเบียบไม่เปิดช่องเบิกจ่าย

สาเหตุ หลักมาจากเงื่อนไขหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสะสมติดขัดยุ่งยาก ไม่คล่องตัว และมีข้อจำกัด อย่างปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา อปท.ทั่วประเทศเบิกจ่ายเงินสะสมไปใช้ตามนโยบายได้เพียงแค่ 3 พันล้านบาทเท่านั้น แทบไม่เกิดผลในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เพราะคิดเป็นวงเงินน้อยมากเมื่อเทียบกับวงเงินที่น่าจะนำมาใช้พัฒนาได้จริง เบ็ดเสร็จรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท เป็นเพราะยอดเงินสะสมที่มีอยู่กว่า 3 แสนล้านบาท ดังกล่าวถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก 1.ก้อนแรก 75% ของ 3 แสนล้าน หรือประมาณ 2.25 แสนล้านบาท ระเบียบกำหนดให้นำไปใช้ในโครงการ หรือกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท. ต้องกันสำรองเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร สำรองจ่ายกรณีสาธารณภัย ฯลฯ จะนำไปใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือทำกิจกรรมอื่นไม่ได้

2.เงินสะสมก้อนที่สอง 25% ของ 3 แสนล้านบาท หรือทุนสำรองเงินสะสม ราว 7.5 หมื่นล้านบาท เป็นก้อนที่ระเบียบที่บังคับใช้อยู่ขณะนี้ให้สามารถนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ชุมชนท้องถิ่นได้ แต่ข้อแม้ว่า อปท.ต้องเบิกจ่ายเงินจากแหล่งอื่นก่อน จากนั้นจึงสามารถเบิกจ่ายเงินก้อนนี้เป็นก้อนสุดท้าย ในทางปฏิบัติ อปท.ส่วนใหญ่จึงเบิกจ่ายเงินก้อนนี้น้อยมาก

แนะมหาดไทยแก้กติกาใหม่

ขณะเดียวกัน จากที่การสนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเบิกจ่ายเงินสะสมไปลงทุนพัฒนา หรือก่อสร้างได้เฉพาะก้อนที่สอง ซึ่งวงเงินสะสมส่วนนี้มีจำนวนน้อยมาก โดยเฉพาะถ้าเป็น อปท.ขนาดกลางและขนาดเล็ก มีไม่กี่แสนบาท ดำเนินโครงการได้จำกัด ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลจึงน้อยมากตามไปด้วย

ดังนั้น หากรัฐบาลคาดหวังให้ อปท.นำเงินสะสมไปใช้จัดทำโครงการต่าง ๆ และให้เกิดผลในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย จำเป็นต้องแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การใช้เงิน สะสม เปิดกว้างให้สามารถนำเงินสะสมก้อนแรก 75% มาใช้ แทนที่จะจำกัดเฉพาะก้อนที่สอง โดยต้องกำหนดใช้เงินทำโครงการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี สนองเป้าหมายหลักฟื้นเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น เมื่อเศรษฐกิจกระเตื้องสู่ภาวะปกติ ค่อยปรับแก้เงื่อนไขหลักเกณฑ์การใช้เงินสะสมให้เข้มงวดเหมือนเดิม


พร้อมใช้มาตรการจูงใจโดยรัฐใส่เงินสนับสนุนในการดำเนินโครงการส่วนหนึ่ง โดยให้ท้องถิ่นใช้เงินสะสม 2 ส่วน รัฐสนับสนุน 1 ส่วน ให้ท้องถิ่นมีเม็ดเงินไปจัดทำโครงการมากขึ้น มิฉะนั้นจะไม่สำเร็จ เหมือนปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมาอีก