ดอลลาร์อ่อนค่าเล็กน้อย หลังผลประชุมเฟดเป็นไปตามคาด

เงินดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์อ่อนค่าเล็กน้อย หลังผลการประชุมเฟดเป็นไปตามคาด ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ เอกชนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2565 จะเติบโตต่อเนื่อง หลังธนาคารโลกคาดการณ์ว่า GDP ของไทยในปีหน้าจะโตได้ถึง 3.9% ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/12) ที่ระดับ 33.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/12) ที่ระดับ 33.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อคืนนี้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และจะเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565

โดยการปรับลดวงเงิน QE ของเฟดจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เฟดยุติการทำ QE ในเดือน มี.ค. 2565 นอกจากนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565 และจำนวน 2 ครั้งในปี 2566 และอีก 2 ครั้งในปี 2567

ทั้งนี้การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดวงเงิน QE สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน เฟดได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 5.5% ขณะที่ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของปี 2565 สู่ระดับ 4.0% และเฟดปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2564-66 สู่ระดับ 5.3%, 2.6% และ 2.3% ตามลำดับ

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่เปิดเผยเมื่อคืน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8% หลังจากพุ่งขึ้น 1.8% ในเดือน ต.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เอกชนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2565 จะเติบโตต่อเนื่อง จากการเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี’65 จะเติบโต 3.9% เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโต 1% ในปีนี้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.40-33.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/12) ที่ระดับ 1.1290/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/12) ที่ระดับ 1.1273/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25%

นอกจากนี้นักลงทุนยังติดตามการประชุมของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งจะจัดขึ้นในคืนวันนี้ (16/12) โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1281-1.1315 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1313/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/12) ที่ระดับ 114.14/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (15/12) ที่ระดับ 113.67/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน พ.ย.เพิ่มขึ้น 20.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน แม้ขยายตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เล็กน้อยโดยตลาดคาดว่ายอดส่งออกเดือน พ.ย.อาจจะขยายตัว 21.2% ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ในวันศุกร์นี้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.04-114.25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.10/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน ธ.ค. จากมาร์กิต (16/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.50/-0.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.0/-1.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ