คุยกับซีอีโอ “บลจ.วรรณ” จับเทรนด์กองทุนต่างประเทศปี’65

พจน์ หะริณสุต บลจ.วรรณ
พจน์ หะริณสุต
อัพเดต 24 ธ.ค.2564 เวลา 06.48 น.
สัมภาษณ์พิเศษ

ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา กองทุนต่างประเทศ (FIF) โดยเฉพาะกองหุ้น เป็นที่นิยมค่อนข้างมาก เพราะหุ้นต่างประเทศให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นในประเทศ ส่วนแนวโน้มปี 2565 กองทุนต่างประเทศ จะยังน่าลงทุนแค่ไหน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “พจน์ หะริณสุต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด มานำเสนอ

ผลตอบแทนกอง FIF ยังไปได้

โดย “พจน์” เปิดเผยว่า หากย้อนไปในปี 2563 ต้องบอกว่าเป็นปีที่ดีมากสำหรับกองทุนต่างประเทศ แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรก จะเริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 จนมีการเทขายหุ้นทั่วโลก แต่เมื่อถึงช่วงกลางปี นักลงทุนเริ่มกลับเข้าซื้อกองทุนต่างประเทศกันเพิ่มมากขึ้น

“ตอนนั้น นักลงทุนอาจจะมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทย อาจจะไม่ไปไหนไกล จึงเทการลงทุนมาที่หุ้นต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าถึง 1 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ต่อมาในปีนี้ (ปี 2564) เมื่อนักลงทุนเริ่มคลายกังวลจากโควิด-19 หลังจากมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้หุ้นที่เคยได้รับอานิสงส์จากการล็อกดาวน์ติดลบลงมา ทำให้กองทุนมีผลตอบแทนลดลง ไม่ได้สูงเหมือนปีก่อน แต่โดยภาพรวมผลตอบแทนก็ยังไปได้ดีอยู่” นายพจน์กล่าว

กองทุนหุ้นเวียดนามเด่นสุด

โดยปีนี้กองทุนหุ้นยุโรปผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 22% กองทุนหุ้นอินเดีย 17% กองทุนหุ้นโกลบอลไฟแนนซ์ 15% ขณะที่กองทุนต่างประเทศที่ดีที่สุดในปีนี้ คือ กองทุนหุ้นเวียดนามผลตอบแทนอยู่ที่ 43% ส่วนกองทุนหุ้นสหรัฐ 15% และกองทุนญี่ปุ่น 7%

“ถ้าดูกองทุน ONE-GECOM ที่ปีที่แล้วผลตอบแทนพุ่งขึ้นไปถึง 130% ปีนี้ก็ลดลง ดังนั้นจะเห็นการลงทุนในอีคอมเมิร์ซติดลบลงไปบ้าง จากการเปิดเมือง และทำให้นักลงทุนหันไปสนใจการลงทุนที่เกี่ยวกับการเปิดเมือง (reopening) มากขึ้น แต่โดยรวมแล้วกองทุนต่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็ยังทำผลงานได้ดี (outperform) มากกว่ากองทุนที่ลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ หุ้นไทยอาจจะบวกอยู่ที่ประมาณ 10-15% แต่ต่างประเทศจะบวกถึงประมาณ 15-40%”

ปีนี้ “จีน” ยังฝุ่นตลบ

ส่วนกองทุนต่างประเทศที่แย่ที่สุดในปีนี้ คือ กองทุนหุ้นจีน เนื่องจากรัฐบาลจีนมีการออกกฎหมายต่าง ๆ เพื่อที่จะควบคุมและลดการผูกขาดของธุรกิจ ซึ่งส่งผลกระทบให้หุ้นบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Tencent, Alibaba โดนเทขายออก รวมถึงหุ้นในโรงเรียนกวดวิชา และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีนที่ผิดนัดชำระหนี้ อย่าง “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์” ทำให้ผลตอบแทนติดลบลงไป และมีความผันผวนค่อนข้างมาก

“อย่างไรก็ดี หากมองการลงทุนระยะยาว ต้องบอกว่า จีนก็ยังเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี เนื่องจากจีนมีโอกาสที่จะขึ้นแซงหน้าสหรัฐ และเป็นอันดับ 1 ของโลกในอนาคต รวมถึงราคาหุ้นของจีนค่อนข้างถูกมากอยู่ประมาณ 9 เท่า ส่วนสหรัฐราคาหุ้นอยู่ที่ประมาณ 20 เท่า ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับราคาหุ้นจีน” นายพจน์กล่าว

จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยงหลักปีหน้า

สำหรับปีหน้า “พจน์” ชี้ว่า ปัจจัยเสี่ยงหลักของโลกในตอนนี้ที่ยังต้องจับตาดู มี 2 เรื่อง คือ การระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ซึ่งจะยังคงสร้างความกังวลอยู่ เนื่องจากยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องผลกระทบว่าจะมีความรุนแรงแค่ไหน จึงคาดว่ายังคงเป็นปัจจัยที่จะกดดันตลาดหุ้นอยู่

ส่วนอีกปัจจัยก็คือเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ในปีนี้ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสหรัฐเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยต้องจับตาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า เพราะเงินเฟ้อในสหรัฐอยู่ในระดับที่สูงมากที่ระดับ 5-6% ต่อปี

“เฟดมักจะดูจากตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก เพื่อใช้ตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินต่าง ๆ เช่น ตัวเลขเงินเฟ้อ ตัวเลขอัตราการจ้างงานและอัตราการว่างงาน ซึ่งดัชนีที่จะสามารถสะท้อนถึงภาพตรงนี้ได้ชัดเจน จะเป็นแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี (บอนด์ยีลด์) ของสหรัฐ ซึ่งหากเฟดมีการส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงมาก ก็จะทำให้บอนด์ยีลด์เร่งตัวขึ้น แล้วเวลาที่เกิดสถานการณ์แบบนี้ ตลาดหุ้นก็มักจะติดลบ” นายพจน์กล่าว

กลยุทธ์การลงทุนปีหน้า

“พจน์” กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนในปีหน้า การกระจายการลงทุนยังคงเป็นหัวใจสำคัญในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ฉะนั้น ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของการลงทุน คือเรื่องของพื้นฐานและคุณภาพของบริษัท โดยการเลือกหุ้นปีหน้า จะเน้นหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและพฤติกรรมผู้บริโภค และหุ้นที่เกี่ยวกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

ไม่ว่าจะเป็น internet of things (IOT), AI (ปัญญาประดิษฐ์), healthtech และ blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มาช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยลดต้นทุน ที่ยังไปต่อได้และนับว่าเป็นหุ้น growth stock หรือหุ้นเติบโตเร็ว

“อีกตัวคือหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เช่น หุ้นกลุ่มการเงินโลก ส่วนหุ้นต่างประเทศที่น่าสนใจมองว่าเป็นหุ้นญี่ปุ่นและหุ้นเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงหุ้นที่เกี่ยวกับเทรนด์ ESG ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และเป็นหุ้นอีกกลุ่มที่น่าสนใจในการลงทุน ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ หากจะลงทุนให้ลงทุนในตราสารหนี้ประเภทไฮยีลด์บอนด์ เนื่องจากเงินเฟ้อทั่วโลกกำลังพุ่ง การลงทุนในตราสารหนี้อาจไม่ดีนัก ขณะที่หุ้นกลุ่มการลงทุนทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นกองรีท หรือกองทุนอินฟราสตรักเจอร์ ก็ยังเป็นการลงทุนทางเลือกที่เข้ามาช่วยกระจายความเสี่ยงในพอร์ตได้” นายพจน์กล่าว

“กองเมตาเวิร์ส” รีเทิร์น 10%

ทั้งนี้ ในปีหน้า บลจ.วรรณ จะเน้นออกกองทุนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่ก็ยังคงมีกองทุนทริกเกอร์ฟันด์อยู่ ส่วนกองทุนที่จะออกปีหน้าหลักจะเป็น world stocks ที่เป็นเมกะเทรนด์เด่น ๆ เช่น ESG เมตาเวิร์ส, โซเชียลมีเดีย, medicaltech เป็นต้น ถ้าเป็นตราสารหนี้อาจจะเป็นกองไฮยีลด์บอนด์ นอกจากนี้ ยังมีกองไพรเวตอิควิตี้ ซึ่งจะทนทานต่อการขึ้นดอกเบี้ย

ส่วนกองทุนเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ในกลุ่มหุ้นคริปโทเคอร์เรนซี ก็กำลังศึกษาอยู่และกำลังรอความชัดเจนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยกองแรกที่จะออกมาในปีหน้าเดือน ม.ค. 2565 จะเป็น “กองเมตาเวิร์ส” ซึ่งตั้งเป้าผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปีและวางแผนที่จะทยอยออกกองทุนใหม่เดือนละหนึ่งกองในครึ่งปีแรก

“ปีหน้าการลงทุนต่างประเทศยังคงมีความผันผวนอยู่ การกระจายความเสี่ยง คือหัวใจสำคัญ และต้องจับตาเรื่องโควิดและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟดเป็นหลัก ทั้งนี้ หากสามารถกระจายการลงทุนในหุ้นที่มีการเติบโต มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีและราคาไม่แพง และมีสินทรัพย์ทางเลือกในพอร์ต จะทำให้เรามีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ทำให้ไม่ต้องกังวลเวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวลง ทั้งนี้ สรุปแล้วปีหน้าคาดว่าการลงทุนในต่างประเทศจะยังคงได้รับความสนใจ แต่ผลตอบแทนอาจจะไม่ได้พุ่งขึ้นไปสูงมาก อาจจะค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณกล่าว