สบน. แจง “ช็อปช่วยชาติ” คำนึงความเสี่ยงทางการคลังแล้ว

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ แถลงว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและดำเนินนโยบายทางการคลังผ่านมาตรการระยะสั้นและระยะยาว เพื่อทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของภาคการผลิตและบริการและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงสนับสนุนการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาพรวม

สำหรับมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” เป็นมาตรการระยะสั้นที่รัฐบาลดำเนินการเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในการซื้อสินค้าและรับบริการในช่วงปลายปี 2560 ซึ่งจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นนอกจากนี้ จะช่วยขยายฐานภาษี อันจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีในระยะยาว ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล กระทรวงการคลังได้รักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ปัจจุบัน หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2560 มีจำนวน 6,305,654.60 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.75 ของ GDP และประมาณการระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 – 2564 อยู่ที่ระดับไม่เกินร้อยละ 49 โดยในปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ระดับร้อยละ 48.60


ทั้งนี้ การประมาณการดังกล่าวได้ครอบคลุมการประมาณการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการกู้เงินโครงการลงทุนเพื่อการพัฒนาต่างๆ ของประเทศแล้ว ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบ ความยั่งยืนทางการคลังที่ไม่เกินร้อยละ 60