ค่าเงินบาทอ่อนค่า กนง.คงดอกเบี้ยตามตลาดคาด

เงินบาท
ภาพจาก pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 22 ธันวาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/12) ที่ระดับ 33.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (21/12) ที่ระดับ 33.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดยได้รับผลกระทบจากการที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.75 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจถูกคว่ำในวุฒิสภาสหรัฐ แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างวันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับแข็งค่าขึ้น โดยได้รับแรงหนุนหลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐออกมาเปิดเผยว่า เขาและนายโจ แมนซิน แกนนำวุฒิสมาชิกของพรรคเดโมแครต กำลังร่วมมือกันเพื่อผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 1.75 ล้านล้านดอลลาร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายแมนชินปฏิเสธที่จะสนับสนุนมาตรการดังกล่าว “วุฒิสมาชิกแมนชิน และผมกำลังผลักดันเรื่องนี้ และเชื่อว่ายังมีความเป็นไปได้ที่การผลักดันร่างกฎหมาย Build Back Better วงเงิน 1.75 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งผมเป็นผู้นำเสนอนั้น จะประสบความสำเร็จ” ปธน.ไบเดนกล่าว โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าการเปิดเผยดังกล่าวถือเป็นความคืบหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ตลาดการเงินทั่วโลกได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากการที่นายแมนชินประกาศไม่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวของ ปธน.ไบเดน โดยอ้างว่าจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้กับสหรัฐ โดยท่าทีดังกล่าวของนายแมนชินจะส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวขาดเสียงสนับสนุนที่เพียงพอในวุฒิสภา แม้ว่าผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรสหรหัฐก่อนหน้านี้ นอกจากนี้การที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงว่า รัฐบาลสหรัฐจะไม่กลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์เหมือนกับที่เคยดำเนินการในเดือน มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก พร้อมกับขอความร่วมมือให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตยังช่วยหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอีกด้วย

ด้านปัจจัยภายในประเทศ การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ต่อไปทั้งนี้ กนง. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 0.9% ในปี 64 และจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 65 และ 66 ที่ 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.65-33.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/12) ที่ระดับ 1.1277/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (21/12) ที่ระดับ 1.1298/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยยูโรยังได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน โดยเฉพาะในเดนมาร์กที่สายพันธุ์โอไมครอนได้กลายเป็นสายพันธุ์การแพร่ระบาดหลักในเดนมาร์กแล้ว โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1264-1.1297 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1273/1.1275 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/12) ที่ระดับ 114.10/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (21/12) ที่ระดับ 113.61/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าหลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือน ต.ค.ในวันนี้ระบุว่า กรรมการบางคนของ BOJ กล่าวว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงอ่อนแอ แม้ต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และเงินเยนอ่อนค่าลง พร้อมกับกล่าวว่า BOJ ควรดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.95-114.26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.24/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ประมาณการครั้งสุดท้ายจีดีพีไตรมาส 3/2021 (22/12), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก Conference Board (22/12), ยอดขายบ้านมือสองเดือน พ.ย. (22/12), ดัชนีการใช้จ่ายส่วนบุคคลพื้นฐาน (23/12), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ย. (23/12), ยอดขายบ้านมือสองเดือน พ.ย. (22/12), ดัชนีการใช้จ่ายส่วนบุคคลพื้นฐาน (23/12), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ย. (23/12)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศ อยู่ที่ -0.5/+0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.7/+2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ