สบน.จ่อ”แผนกู้”ใส่งบปี’61 ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์แสนล้าน

สบน.เตรียมทำแผนบริหารหนี้ปีงบประมาณ 2561 คาดเบิกเงินกู้ลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานพุ่งแตะแสนล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณ 2560 ที่มีวงเงินแค่ 7-8 หมื่นล้านบาท เหตุรัฐเซ็นโครงการลงทุนหลายโครงการเดินหน้าแล้ว

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีงบประมาณ 2561 ที่จะเริ่มวันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป ในเบื้องต้นประเมินว่าหน่วยงานต่าง ๆ น่าจะมีการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้สำหรับโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท จากปีงบประมาณ 2560 ที่อยู่ระดับ 7-8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากขณะนี้หลายโครงการมีเซ็นสัญญาก่อสร้างแล้ว ทำให้ สบน.จะต้องประชุมหารือสรุปตัวเลขที่ชัดเจนกับหน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อนำวงเงินที่จะกู้เงินในปีงบประมาณ 2561 มาใส่ไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. 60-ก.ย. 61)

นอกจากนี้ ยังมีวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2561 อีก 4.5 แสนล้านบาท ที่จะต้องใส่ไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2561

“ความต้องการเงินกู้เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน น่าจะถึงแสนล้าน ทั้งโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งต้องเบิกจ่ายไปตามงวดงาน และโครงการที่มีการเซ็นสัญญาเพิ่มเติม อย่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม และรถไฟทางคู่ที่น่าจะได้คู่สัญญาเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เส้นทาง อย่างไรก็ดี จะมีการประชุมรวบรวมตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้ง และจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกํากับการบริหารหนี้สาธารณะ ที่จะประชุมช่วงต้นเดือน ส.ค.ต่อไป” นายธีรัชย์กล่าว

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน วงเงิน 179,413 ล้านบาทนั้น ได้จัดสรรวงเงินไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2560 ราว 1,746.66 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าศึกษาออกแบบ ส่วนวงเงินกู้ในปีงบประมาณ 2561 จะต้องรอให้ทางกระทรวงคมนาคมสรุปอีกครั้ง ซึ่งจะใช้ทั้งแหล่งเงินกู้ในประเทศ โดยเป็นแหล่งเงินหลัก เพราะจะใช้วัสดุในประเทศราว 70-80% ส่วนแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ ขณะนี้กำลังเจรจากับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (เอ็กซิมแบงก์จีน) อยู่

“แหล่งเงินกู้ในประเทศก็ยังไปได้อยู่ และถ้าดูค่าใช้จ่ายโครงการ 70-80% ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในประเทศ เพราะส่วนใหญ่เป็นงานโยธา อาจมีแค่บางส่วนที่ต้องนำเข้า” นายธีรัชย์กล่าว

สำหรับสถานะหนี้สาธารณะ ล่าสุด ณ วันที่ 31 พ.ค. 2560 มีจำนวน 6.35 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 42.90% ของ GDP ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 79,903.50 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้รัฐบาล จำนวน 88,281.79 ล้านบาท ที่เกิดจากการกู้เงินล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 65,000 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในเดือน มิ.ย. 2560

อย่างไรก็ดี หลังจากปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2560 ครั้งที่ 2 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยวงเงินปรับลดสุทธิ 10,576.78 ล้านบาท จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP เมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณ 2560 (สิ้น ก.ย. 2560) จะอยู่ที่ 42.8% ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนที่กำหนดไว้ที่ 60% ของ GDP และภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 8.3% จากกรอบความยั่งยืนที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 15%