แบงก์เกาะติด “ไวรัสกลายพันธุ์” เร่งงัดมาตรการสกัดหนี้เสียพุ่ง

แบงก์เกาะติด “โอไมครอน” สกัดเอ็นพีแอลปี 2565 “ทิสโก้” ลุยขยายมาตรการ “คืนรถจบหนี้” ครอบคลุมหนี้รถจักรยานยนต์ “แบงก์กรุงเทพ” จับตาไวรัสกลายพันธุ์ใกล้ชิด เน้นช่วยลูกหนี้ตามอาการ “ไทยพาณิชย์” ปักธงแก้หนี้ 5 แสนล้าน ภายใน 2 ปี โฟกัสรายอุตสาหกรรม “กสิกรไทย” อุ้มลูกหนี้ต่ออีก 3 แสนล้านบาท ปรับโครงสร้างระยะยาว ด้าน ธปท.พร้อมงัดมาตรการดูแลเพิ่มตามสถานการณ์

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในปี 2565 ขึ้นอยู่กับปัจจัยการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” หากนำไปสู่การล็อกดาวน์ประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และอาจลามไปสู่เอสเอ็มอีและรายใหญ่ได้ อย่างไรก็ดี ขณะนี้จำนวนลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือมีแนวโน้มลดลง

โดยเฉพาะลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ จากเดิมมีสัดส่วนราว 30% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ปัจจุบันเหลือ 3-4% ซึ่งในต้นปี 2565 ธนาคารจะมีมาตรการช่วยลูกหนี้รถจักรยานยนต์ ผ่านบริษัท ไฮเวย์ จำกัด ที่มีฐานลูกค้ารถจักรยานยนต์จำนวนมาก หลังจากก่อนนี้ได้ทำ “คืนรถจบหนี้” ไ สำหรับรถยนต์ไปแล้ว 4,500 คัน

“พอร์ตของทิสโก้ประมาณ 70% เป็นรายย่อย และส่วนใหญ่เป็นเช่าซื้อ เราจะช่วยเหลือตามลักษณะกระแสเงินสด ส่วนพวกสินเชื่อบ้านเป็นหนี้ระยะยาว ทำให้พอร์ตลดลงยาก เราคงต้องดูมาตรการลดดอกเบี้ยและมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวตามแนวทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งลูกหนี้บ้านมีเข้าโครงการราว 10% ตอนนี้พอร์ตบ้านของทิสโก้ พร้อมเดินหน้าปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ในปีหน้า เอ็นพีแอลน่าจะอยู่ในกรอบ 3% ที่ตั้งไว้”

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แนวโน้มเอ็นพีแอลของแบงก์อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เนื่องจาก ธปท.และธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่ามีกลุ่มที่ไปไหวและไม่ไหว เช่น กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรมที่ยังได้รับผลกระทบ หรือกลุ่มส่งออกที่ทยอยดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งธนาคารคงให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมแต่ละราย และติดตามการระบาดของโอไมครอนอย่างใกล้ชิด

นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มคุณภาพสินเชื่อของแบงก์อยู่ในวิสัยบริหารจัดการได้และเอ็นพีแอลน่าจะลดล เพราะธนาคารอยู่ระหว่างช่วยเหลือลูกหนี้แบบเบ็ดเสร็จระยะยาวตามแนวทาง ธปท. ตั้งแต่การยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย พักชำระหนี้โดยประเมินตามรายอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มธุรกิจโรงแรมที่ยังได้รับผลกระทบ อาจจำเป็นต้องยืดหนี้ยาวเฉลี่ย 5-10 ปี หรือการลดดอกเบี้ยในบางกลุ่ม โดยประเมินจากกระแสเงินสด เพื่อให้ลูกหนี้ชำระได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายแก้ไขหนี้ส่วนนี้ไว้ที่ราว 5 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 2 ปี (2565-2566) ซึ่ง ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 ธนาคารมีมูลหนี้ที่อยู่ในโครงการช่วยเหลือราว 4.6 แสนล้านบาท ทยอยลดลงจากต้นปี 2563 ที่มีลูกหนี้เข้าโครงการสูงถึง 8.4 แสนล้านบาท โดยเอ็นพีแอลในไตรมาส 3 อยู่ที่ 3.9% จากต้นปีที่อยู่ที่ 3.7% เล็กน้อย เพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่ธนาคารคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 4-4.5%

“การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว เราตั้งเกณฑ์ตามรายอุตสาหกรรมและ เฉพาะตัว โดยในกลุ่ม nonretail เราจะมีทีมที่ดูเป็นรายบริษัท ส่วนกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนมาก จะแยกเป็น subsegment ย่อยราว 10 segment และมีบางส่วนที่เราคิดว่าไปไม่รอด เราก็บันทึกเป็นเอ็นพีแอลไปแล้ว 1 ใน 3 เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต เพราะอย่างน้อยที่แบงก์ยอมสูญเสียรายได้ดอกเบี้ย หวังว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า ลูกหนี้จะไม่กลับมาปรับโครงสร้างซ้ำซ้อน”

นายมาณพกล่าวอีกว่า การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ยังคงเป็นโจทย์สำคัญในปี 2565 โดยจะต้องมีการประเมินสถานการณ์โอไมครอนว่าจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ไม่รุนแรง การตั้งสำรองน่าจะเพียงพอ โดยในไตรมาส 3 ปี 2564 ธนาคารมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 138%

แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตอนนี้ลูกค้ากสิกรไทยที่อยู่ในโครงการช่วยเหลือมีอยู่กว่า 3 แสนล้านบาทซึ่งธนาคารมีแพ็กเกจนอกเหนือเกณฑ์ของ ธปท. โดยอิงตามอาการ เช่น อาการเบาจะเน้นปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้น แต่ถ้าอาการหนัก จะเน้นปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว เช่น การลดดอกเบี้ย ลดค่างวด ตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ หรือจบหนี้มีส่วนลด เป็นต้น

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในไตรมาส 3 ปี 2564 เอ็นพีแอลที่ออกมาที่ 3.14% อาจจะไม่ใช่ตัวเลขจริง 100% เพราะมีมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นอยู่

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาที่ตัวเลขการส่งฟ้องร้องดำเนินคดีและค้างชำระเกิน 1 วัน ยังไม่มีสัญญาณที่น่ากังวล ซึ่งหลังเปิดประเทศน่าจะดีขึ้น โดยธนาคารจะบริหารจัดการได้


“ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอน หากเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามคาด ธปท.มีความพร้อมออกมาตรการที่เหมาะสมต่อไป” ดร.รุ่งกล่าว