เงินบาททรงตัว หลังปริมาณธุรกรรมเริ่มเบาบางช่วงใกล้หยุดยาว ตลาดรอปัจจัยใหม่

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 29 ธันวาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/12) ที่ระดับ 33.54/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/12) ที่ระดับ 33.52/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 16 ในเดือน ธ.ค. จากระดับ 12 ในเดือน พ.ย. โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีภาคการผลิตจะทรงตัวที่ระดับ 12 ในเดือน ธ.ค. ทั้งนี้ ดัชนียังคงมีค่ามากกว่า 0 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิตในเขตริชมอนด์ โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นขอคำสั่งซื้อใหม่ และความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ แม้ว่าการจ้างงานชะลอตัวลง

นอกจากนี้ ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ซิลเลอร์ บ่งชี้ว่า ดัชนีราคาบ้านในสหรัฐยังคงดีดตัวขึ้นในเดือน ต.ค. ทั้งนี้ ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 19.1% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี แต่ต่ำกว่าระดับ 19.7% ในเดือน ก.ย.ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.4% ในเดือน ต.ค. หลังจากพุ่งขึ้น 19.1% ในเดือน ก.ย. ด้านปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

โดยเป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวในประเทศ และการส่งออกที่ยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 อย่างไรก็ดี ต้องติดตามสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.50-3.62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.52/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/12) ที่ระดับ 1.1308/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/12) ที่ระดับ 1.1327/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในยุโรปที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายในระยะสั้น ยังคงเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินยูโรอยู่อย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุดสถาบันสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของเนเธอร์แลนด์ (RIVM) เปิดเผยว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้กลายเป็นายพันธุ์หลักในเนเธอร์แลนด์แล้ว โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดในประเทศ โดยสามารถแทนที่สายพันธุ์เดลต้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1286-1.1315 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1287/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/12) ที่ระดับ 114.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/12) ที่ระดับ 114.77/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวก หลังสำนักข่าวเกียวโดรายงานการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลายราย ซึ่งรวมถึงนักวิเคราะห์จาก NLI Rescarch Institute และ Mizuho Research & Technologies โดยระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวรวดเร็วในปีงบประมาณ 2565 หลังจากที่พลิกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี 2564

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจากยอดติดเชื้อโควิด-19 ลดลง นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะขยายตัวราว 2%-4% ในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจะเริ่มในเดือน เม.ย. แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจกลับมาเพิ่มขึ้น และปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ยืดเยื้อทั่วโลก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.74-114.97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.96/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือน พ.ย. (29/12), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (29/12), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (30/12)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.5/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.0/+1.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ