จับทิศทางลงทุนสู้เงินเฟ้อ กูรูชู “หุ้น-กองทุน” เด่น…ปีเสือ

3กูรู

การพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเฟ้อกำลังสร้างความกังวลให้กับทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ดำเนินนโยบาย นักเศรษฐศาสตร์ ไปจนถึงประชาชนทั่วไป เพราะจะตามมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น การด้อยค่าลงของเงินในกระเป๋า ฯลฯ ขณะที่ในมุมการลงทุนนั้น นักลงทุนคงต้องมองหาการลงทุนที่จะชนะเงินเฟ้อได้

จับตาเงินเฟ้อปี’65 ทะยาน

โดย “พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า เงินเฟ้อปี 2565 ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง โดยจะมาจากฝั่งอุปสงค์มากกว่าอุปทาน จากช่วงที่ผ่านมามีการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ขณะที่เงินเฟ้อในสหรัฐดูจะไม่ใช่ภาวะชั่วคราวแล้ว ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นว่าเงินเดือน ค่าแรงในกลุ่มของพนักงานออฟฟิศ เริ่มมีแรงกดดันเพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยมีมาก่อน

ส่วนปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่สะดุด ก็ทำให้เชิงโครงสร้างมีการขาดแคลนแรงงาน วัตถุดิบ และการใช้พลังงานที่ก้าวกระโดด ซึ่งเป็นสัญญาณของ inflation expectations (อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์) ที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล และจะเป็นตัวที่เข้ามากระตุ้นให้สินค้าหลาย ๆ ประเภทปรับตัวเพิ่มขึ้น

“แต่ถึงแม้ราคาสินค้าอาจไม่ปรับขึ้น แต่คนจะเริ่มรู้สึกว่าของแพงขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าเงินเฟ้อกระทบลงไปในทุกภาคส่วน และจะเป็นแรงกดดันต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เฟดรู้ตัวแล้วว่าจะต้องปรับลดวงเงิน QE เร็วขึ้น อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปี 2565 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ”

“พีรพงศ์” กล่าวว่า ในแง่ของการลงทุนเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ ยังมองว่าการลงทุนในหุ้นยังเป็นทางเลือกที่ดี โดยกลุ่มที่น่าสนใจจะเป็นหุ้นเกี่ยวกับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสินค้าที่มีความจำเป็น เช่น กลุ่มค้าส่งค้าปลีก, ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มที่นักลงทุนสามารถซื้อเพื่อหาผลตอบแทนในภาวะเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้ หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ต้องระมัดระวังการลงทุนในตราสารหนี้

เงินเฟ้อเข้าสู่ภาวะสมดุลกลางปี

ขณะที่ “วศิน วณิชย์วรนันต์” ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ปัจจุบันข่าวการขึ้นดอกเบี้ยถึงแม้ว่าการตอบรับของตลาดจะไม่ได้เป็นในเชิงลบ เนื่องจากมีการถกกันมาในระดับหนึ่งแล้วว่าเงินเฟ้อจะสามารถควบคุมได้หรือไม่ ซึ่งการที่เฟดเปลี่ยนทิศทางและมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม ตลาดก็มองเป็นเชิงบวกว่าเฟดอาจจะควบคุมเงินเฟ้อได้

“อีกเรื่องที่ตลาดมองอยู่ คือ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่ในปี 2565 แต่ละประเทศเริ่มกลับสู่ทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากการล็อกดาวน์ แม้ว่าโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่างโอไมครอนจะเข้ามาในช่วงนี้ แต่อัตราการป่วยหนักหรือเสียชีวิตยังไม่รุนแรง แต่ยังคงต้องจับตาว่าความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นแค่ไหน ทั้งนี้ มองว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ แต่คาดว่าน่าจะเริ่มกลับเข้าสู่จุดสมดุลในช่วงประมาณกลางปีเป็นต้นไป” นายวศินกล่าว

ชูลงทุนหุ้นสู้เงินเฟ้อ

โดยการลงทุนปี 2565 นี้ บลจ.กสิกรไทยให้น้ำหนักความน่าสนใจในกลุ่มของตราสารทุนหรือหุ้นเป็นหลัก เพราะทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นจึงแนะนำให้กระจายการลงทุนลงไปในสินทรัพย์ประเภทตราสารทุนก่อน สำหรับการลงทุนในหุ้นสหรัฐ แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อก็ตาม แต่ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงเป็นตลาดการลงทุนของทั่วโลก แต่ก็คงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษและลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม

“ส่วนหุ้นไทยดูมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อในไทยยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และอีกตลาดหนึ่ง คือ ตลาดหุ้นจีน แม้ปี 2564 จะเป็นปีที่จีนมีความผันผวนสูงมาก แต่หากดูในเชิงมูลค่าหุ้นจีนยังถือว่าไม่แพง เหมาะกับการลงทุนระยะยาว และเรื่องเงินเฟ้อในจีนก็ไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากจีนสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี” นายวศินกล่าว

แนะซื้อกองทุนหุ้นพลังงาน-ESG

ด้าน “ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์” นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า คำแนะนำลงทุนที่จะช่วยรับมือเงินเฟ้อนั้น แนะนำลงทุนในกองทุนที่เน้นกลุ่มเกี่ยวกับพลังงาน, หุ้นยั่งยืน (ESG) และหุ้นคุณภาพ (quality) แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องไม่ลืมว่าเงินเฟ้อนั้นอาจจะต่ำกว่าที่คาดการณ์หรือกังวลกัน ซึ่งหากเงินเฟ้อต่ำลงก็จะส่งผลดีกับกองทุนที่ลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยี (technology) และหุ้นขนาดเล็ก (small cap)

คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเงินเฟ้อจะลากยาวไปแค่ไหน ส่วนนักลงทุนก็ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดและปรับพอร์ตให้เหมาะสมตามสถานการณ์กันต่อไป