ปีเสือ หนี้ครัวเรือนขาขึ้น ขอรัฐช่วยผ่อนค่างวด ผวาฉุดเศรษฐกิจ

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวมาจนเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว แน่นอนว่า ด้วยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ต้องมีการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ย่อมทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ กล่าวคือรายได้ครัวเรือนย่อมหดหาย สวนทางกับภาวะหนี้สินที่มีมากขึ้น

“หนี้ครัวเรือน” ยังขาขึ้น

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง อาจทำให้ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการก่อหนี้เพิ่มเติม

เนื่องจากสถานะการทำงานและรายได้ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แม้ในปี 2565 จะยังคงเห็นยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็น่าจะเป็นอัตราการเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจมากขึ้น (ภายใต้สมมุติฐานที่ความเสี่ยงจากโควิดจะถูกจำกัดวงไว้ได้อย่างทันท่วงที

และกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถประคองทิศทางการฟื้นตัวได้) ดังนั้น จึงยังคงตัวเลขประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2565 ที่กรอบ 90-92% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)โดยสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีมีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยจากตัวเลขคาดการณ์ในปี 2564 ที่ 90.5% ต่อจีดีพี

จี้เร่งแก้ปัญหาก่อนบานปลาย

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิดเนื่องจากหากใช้เวลาในการดูแล/ควบคุมมากกว่าที่คาด ก็อาจทำให้มีโอกาสที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะขยับขึ้นสูงกว่ากรอบประมาณการปี 2565 ได้

ขณะที่โจทย์เฉพาะหน้าของครัวเรือนไทยที่มีภาระหนี้ยังคงเป็นการดูแลรายจ่ายอย่างระมัดระวังและสมดุลกับสถานการณ์รายได้ที่ไม่แน่นอนเพื่อให้ยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ได้อยู่แต่หากประสบปัญหาก็คงต้องเร่งติดต่อสถาบันการเงิน

เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมเช่น การปรับโครงสร้างหนี้ หรือรวมหนี้สินเชื่อรายย่อยกับสินเชื่อบ้านเพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยและการผ่อนค่างวดลงเพื่อให้ประคองตัวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้

สศช.ห่วงหนี้บุคคล-บัตรเครดิต

“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่ต่อเนื่องจากวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ก็มีหนี้ครัวเรือนที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นหนี้บุคคลที่เป็นการบริโภคผ่านบัตรเครดิต

โดยส่วนนี้ ต้องมีการดูแลแก้ไข ด้วยการช่วยลดภาระในการชำระหนี้ในช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นค่อยปรับให้ชำระปกติหลังจากสถานการณ์ปกติแล้ว

ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ก็ออกมาตรการมาช่วยผ่อนภาระเรื่องหนี้ครัวเรือน ทั้งการพักชำระหนี้ในช่วงต้น มาตรการรวมหนี้ เป็นต้น

ธปท.ยันแก้หนี้ครบวงจร

“ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. กล่าวว่า การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถชำระหนี้ในระยะยาวของลูกหนี้ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจร

และการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกหลังโควิด-19 มีบทบาทสำคัญในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน และต้องเร่งผลักดันในระยะต่อไป

“ภายใต้ภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง ธปท. และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันติดตามความเสี่ยงในภาคส่วนต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถออกมาตรการดูแลเพิ่มเติมได้อย่างทันท่วงทีหากจำเป็น

รวมถึงดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่นและเอื้อให้เกิดการปรับตัวอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ร่วมกันได้อย่างมั่นคง” นายดอนกล่าว

นายกฯสั่งแก้หนี้ “ครู-ตำรวจ”

ทั้งนี้ ด้วยปัญหาหนี้สินครัวเรือนนี้ที่เป็นโจทย์ใหญ่ โดยเฉพาะหนี้สินของกลุ่มข้าราชการครู และตำรวจ ที่ทำให้รัฐบาลไม่อาจนิ่งเฉยได้

โดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศตั้งแต่ต้นปีทันทีว่า ปี 2565 นี้ จะเป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ให้สำเร็จให้ได้ โดยให้ความสำคัญกับ 2 กลุ่มอาชีพเป้าหมาย คือ กลุ่มข้าราชการครูและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ซึ่งการแก้ไขหนี้ของ 2 กลุ่มอาชีพนี้ คาดว่าจะทำในหลายมิติ ส่วนหนึ่งจะแก้ไขให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดชอบในหนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีกรณีที่ครูไปค้ำประกันแล้วเจอเด็กเบี้ยวจ่ายหนี้ จึงสร้างความเดือดร้อนให้กับครูผู้ค้ำประกันเป็นอย่างมาก

คลังจ่อชงแพ็กเกจเข้า ครม.

ด้านแหล่งข่าวจาก กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการเตรียมมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินอย่างครอบคลุมทุกมิติไว้แล้ว คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเร็ว ๆ นี้

คงต้องติดตาม ว่าชุดมาตรการแก้ปัญหาหนี้อย่างครบวงจรจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งคงต้องรีบออกมา เพราะหากปล่อยให้บานปลาย จะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของไทย