กนง.มีมติลดประชุมเหลือ 6 ครั้งต่อปี หวังลดเสียงรบกวน-คาดเดาตลาดการเงิน

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธปท.เผยมีมติปรับลดประชุม กนง. เหลือ 6 ครั้งต่อปี เหตุข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้แค่ระยะสั้น-เปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวน้อย-สร้างภาระต่อการคาดเดาของตลาดการเงิน

วันที่ 10 มกราคม 2565 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดจำนวนครั้งการประชุม กนง.เหลือเพียง 6 ครั้งต่อปี เฉลี่ยทุก 7-10 สัปดาห์ จากเดิม 8 ครั้งต่อปี เฉลี่ยทุก 6-8 สัปดาห์ และยังคงเผยแพร่เอกสารการประชุม กนง. 4 ครั้งต่อปี

ทั้งนี้ สาเหตุการปรับลดการประชุมดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคไม่ได้เข้ามาถี่หรือเปลี่ยนแปลงในช่วงสั้น ๆ จึงไม่นัยต่อการประมาณการเศรษฐกิจมาก หากมีข้อมูลใหม่ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้การวิเคราะห์มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และช่วยให้สามารถมองข้ามความผันผวนที่มาจากข้อมูลระยะสั้น

นอกจากนี้ การประชุมบ่อยครั้งอาจจะกระทบจะสร้างภาระต่อการคาดเดาของตลาดการเงิน หรือสร้างเสียงรบกวนโดยไม่จำเป็น ซึ่งความถี่ที่ลดลงจะช่วยให้ตลาดการเงินสามารถคาดการณ์ทิศทางนโยบายได้ชัดเจนขึ้น และเป็นการสะท้อนถึงขีดจำกัดของนโยบายที่ไม่อาจปรับแต่ภาวะเศรษฐกิจได้อย่างละเอียดใกล้ชิด

รวมถึงบริหารเวลาและทรัพยากรที่มีจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นไปที่การวิเคราะห์เชิงลึก (in-depth analysis) เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบาย

ขณะเดียวกัน จะเห็นว่าธนาคารกลางต่างประเทศมีทิศทางปรับลดจำนวนครั้งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินย่างต่อเนื่อง โดยประเทศเศรษฐกิจหลักปรับลดการประชุมเหลือปีละ 8 ครั้ง เช่น สหภาพยุโรปจาก 12 ครั้ง เหลือ 8 ครั้ง สหราชอาณาจักร จาก 12 ครั้ง เหลือ 8 ครั้ง และญี่ปุ่น จาก 14 ครั้ง เหลือ 8 ครั้งเช่นเดียวกัน

ขณะที่มีอักหลายธนาคารกลางหลายประเทศประชุมน้อยกว่าปีละ 8 ครั้ง ได้แก่ นิวซีแลนด์ ลดจาก 8 ครั้ง เหลือ 7 ครั้ง มาเลเซีย จาก 8 ครั้ง เหลือ 6 ครั้ง และ สวีเดน จาก 6 ครั้ง เหลือ 5 ครั้ง นอกจากนี้ บางประเทศประชุมน้อยกว่านั้น เช่น สิงคโปร์ประชุม 2 ครั้ง ไต้หวันและสวิตเซอร์แลนด์ 4 ครั้ง

“การปรับการประชุมครั้งนี้เพื่อให้โฟลว์ข้อมูลกับการประมาณการและการคาดเดาเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเรามีเวลามากขึ้นจะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์เชิงลึก และไม่สร้างภาระต่อการคาดของตลาด อย่างไรก็ดี หากมีเหตุการณสำคัญคณะกรรมการ ก็สามารถเรียกประชุมพิเศษได้ โดยจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาเรามีการปรับนโยบายเพียง 3 ครั้งต่อปี ซึ่งการประชุม 6 ครั้งต่อปี มองว่ายังคงเพียงพอ”