เปิดแนวคิด ธปท. รับมือ “เงินเฟ้อ” พุ่ง

ธปท.

อัตราเงินเฟ้อ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2565 นี้ โดยล่าสุดสะท้อนผ่านราคาสินค้าที่ขยับขึ้นหลายรายการ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเริ่มมองกันว่า เงินเฟ้อสูง จะไม่ใช่แค่ภาวะชั่วคราว แต่อาจจะลากยาวเป็นปี ๆ

ลองมาดูกันว่าในฐานะผู้กำกับนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองเรื่องปัญหาเงินเฟ้ออย่างไร ซึ่ง ธปท.ได้ตอบไว้ในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 4/2564 เมื่อ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา

เงินเฟ้อสูงแค่ชั่วคราว

โดย “สักกะภพ พันธ์ยานุกูล” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราวในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 นี้ แต่จะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-3% ต่อปี กล่าวคือ ตลอดช่วงประมาณการอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายไม่เกิน 3% ต่อปี

“อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดย ธปท.ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2564 จากเดิม 1% เป็น 1.2% ต่อปี ปี 2565 ปรับจาก 1.4% เป็น 1.7% และปี 2566 คาดการณ์เงินเฟ้อที่ 1.4% โดยสาเหตุการปรับประมาณอัตราเงินเฟ้อขึ้น มาจากปัจจัยด้านอุปทานชะงัก หรือ supply disruption และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ โดยประเมินว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราว และจะทยอยลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งประมาณการราคาน้ำมันดิบปีนี้ปรับเป็น 68.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมอยู่ที่ 65.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล”

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้นเล็กน้อย เป็นผลมาจากเศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่ ทำให้แรงกดดันด้านอุปสงค์ไม่มาก โดยในปี 2565 ธปท.ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.4% จากเดิม 0.3% ตามการขึ้นภาษีสรรพสามิต ยาสูบ และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ ส่วนปี 2566 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดจะอยู่ที่ 0.7% เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนยาก

“สักกะภพ” กล่าวว่า แม้ว่าจะมองว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว แต่ ธปท.ต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่สูงขึ้น โดยปัจจุบันจากการสำรวจพบว่า การส่งผ่านต้นทุนยังทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากอุปสงค์ยังคงฟื้นตัวช้า ทำให้การปรับราคาในวงกว้างยังทำได้ยาก โดยการสำรวจพบว่า 55% ยังไม่ปรับเพิ่มราคาในอีก 3 เดือนข้างหน้า และมีประมาณ 34% ปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 20%

“หากดูอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะ 1 ปี และ 5 ปีข้างหน้ายังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายไม่เกิน 3% สะท้อนว่าผู้ร่วมตลาดจะทยอยปรับราคาสินค้าลดลงในระยะต่อไป แต่ปัจจัยที่มีผลกระทบยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของราคาพลังงาน แม้ว่าเราจะมองว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 แต่ยังต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคที่อาจมากกว่าที่ประเมินไว้ และปัญหา supply disruption ที่อาจยืดเยื้อได้ จึงทำให้เงินเฟ้ออยู่ในด้านขาเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้” นายสักกะภพกล่าว

โอมิครอนกระทบครึ่งปีแรก

“สักกะภพ” กล่าวด้วยว่า ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ 3.4% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 3.9% ซึ่งอยู่บนสมมุติฐานว่าการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จะกระทบเศรษฐกิจไทยแค่ในช่วงครึ่งแรกของปี แต่หากสถานการณ์ลากยาวก็อาจจะกระทบมากกว่านี้

ขึ้นดอกเบี้ยไม่คุ้ม-หวั่นฉุดเศรษฐกิจ

ด้านการรับมือปัญหาเงินเฟ้อนั้น “ปิติ ดิษยทัต” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นมาจากฝั่งอุปทานจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ไม่ได้มาจากเศรษฐกิจที่ร้อนแรง ดังนั้น การจะดึงเงินเฟ้อให้ลดลงโดยการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะไม่คุ้ม เพราะการขึ้นดอกเบี้ยจะไปดึงเศรษฐกิจด้วย ทั้งนี้ ธปท.ให้น้ำหนักดูแลเศรษฐกิจ แต่ก็คงไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด

“ในแง่เครื่องมือดูแลเงินเฟ้อ หากจำเป็นจริง การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็คงเป็นเครื่องมือหลัก แต่คาดหวังว่า การสื่อสาร ที่เราพึ่งพาและใช้เป็นหลักในการดำเนินนโยบายการเงินตลอด 20 ปี จะสามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ให้อยู่ในระดับเหมาะสม ในกรอบ 1-3% ซึ่งตราบใดที่เงินเฟ้อยังยึดอยู่ในกรอบ เชื่อว่าจะสามารถลดทอนปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้ระดับหนึ่ง” นายปิติกล่าว

3 เป้าหมายนโยบายการเงิน

“สุรัช แทนบุญ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า นโยบายการเงินไทย ยังคงยึดกรอบเป้าหมาย 3 ด้าน 1.การเติบโตของเศรษฐกิจ ที่ยังเป็นประเด็นสำคัญ โดยนโยบายการเงินยังคงหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างไม่สะดุด แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ยังต้องจับตาใกล้ชิด

2.อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางที่ปรับขึ้นจาก 1.4% เป็น 1.7% เป็นการปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราว จากราคาพลังงานเป็นหลัก แต่การคาดการณ์ในระยะข้างหน้า ยังอยู่ในกรอบเฉลี่ย 1.8-1.9% ต่อปี อย่างไรก็ดี กนง.ยังคงติดตามใกล้ชิด ทั้งเรื่อง supply disruption หรือช็อกที่เกิดจากการประชุม เป็นต้น

และ 3.ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท.ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจ ซึ่งอยู่ในระดับสูงอาจจะฉุดรั้งการเติบโตเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดย ธปท.พยายามออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเพิ่มแรงจูงใจในการแก้หนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว หรือมาตรการรวมหนี้

“ธปท.ให้น้ำหนักกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และหากเศรษฐกิจกลับมา และผลจากโอมิครอนกระทบแค่ครึ่งแรกของปีนี้ ธปท.ก็สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อดูแลเศรษฐกิจได้” นายสุรัชกล่าว


ทั้งหมดนี้ เป็นมุมมองจากผู้กำกับดูแล ที่เป็นการส่งสัญญาณให้แก่ตลาด ว่าทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในปี 2565 นี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป